ด้านเครือข่ายแรงงานไทยได้มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อแรงงาน โดยเป็นตัวกลางช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ด้วยการขอระดมรับบริจาค สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น ตามศูนย์แรงงานกลุ่มย่านสหพันธ์แรงงานและสมาพันธ์แรงงาน จำนวน 10 ศูนย์ หรีอบริจาคช่วยเหลือได้ทางบัญชีชื่อ มูลนิธิพิพิธพัณฑ์แรงงานไทย บัญชีสะสมทรัพย์ เลขที่ 101-7-97864-2 ธนาคารกรุงเทพ สาขาสำนักงานใหญ่สีลม โดยสิ่งของที่ได้รับบริจาคมาทั้งหมดจะนำไปมอบให้ผู้ใช้แรงงาน ในวันที่ 24 ตุลาคมนี้
วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554
วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554
นโยบายฉบับ "ย่อ" 40 พรรคการเมือง
นโยบายฉบับ "ย่อ" 40 พรรคการเมือง
หมายเหตุ - คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปนโยบายพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) จำนวนทั้งสิ้น 40 พรรค ในเว็บไซต์ กกต. (www.ect.go.th) หันหน้าเข้าหากัน สร้างสรรค์ประเทศไทย รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย พลังไทยสร้างชาติ |
งานชิ้นสุดท้ายของนายผี: นายผีเขียนถึงปรีดี พนมยงค์ และ มธก. ในวาระ ๘๔ ปี อัศนี พลจันทร (๑๕ กันยายน ๒๔๖๑-๒๕๔๕)
งานชิ้นสุดท้ายของนายผี: นายผีเขียนถึงปรีดี พนมยงค์ และ มธก.
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ในวาระ ๘๔ ปี อัศนี พลจันทร (๑๕ กันยายน ๒๔๖๑-๒๕๔๕)
ความเรียงเรื่อง "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" ที่ผมขอนำเสนอต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกข้างล่างนี้ แม้ผู้เขียนจะลงชื่อด้วยนามปากกาว่า "สายฟ้า" เท่านั้น แต่ถ้าดูจากสำนวนและวิธีการเขียนแล้ว ใครที่พอจะคุ้นเคยกับงานของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยสมัยก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ มาบ้าง ย่อมเดาได้อย่างไม่ต้องสงสัยว่า นี่เป็นงานของอัศนี พลจันทร หรือที่รู้จักกันดีในนามปากกา "นายผี" นั่นเอง (บางท่านอาจจะคิดว่า อันที่จริง ไม่จำเป็นต้องดูสำนวนหรือวิธีการเขียน ก็ทราบว่าผู้เขียนคือใคร เพราะในหนังสือเกี่ยวกับนายผีส่วนมากก็ระบุว่า "สายฟ้า" เป็นนามปากกาหนึ่งของอัศนี แต่ดังที่ผมจะได้อธิบายต่อไป ความเป็นมาของต้นฉบับที่ค่อนข้างประหลาด ทำให้การดูที่นามปากกาเท่านั้นไม่เพียงพอ) และโดยที่ความเรียงนี้ถูกเขียนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๒๖ หรือ ๒๕๒๗ (ดังที่ผมจะได้อธิบายต่อไปเช่นกัน) คือประมาณ ๓ หรือ ๔ ปีก่อนนายผีถึงแก่กรรม (ในพ.ศ. ๒๕๓๐) จึงน่าจะถือได้ว่านี่เป็นงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของนายผีเท่าที่เรามีหลักฐานอยู่ในขณะนี้
ความเป็นมาของต้นฉบับ
ต้นฉบับ "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" นี้ ผมมีอยู่ในมือมาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว (คือนานพอๆกับอายุของความเรียง) รูปแบบของต้นฉบับที่ผมมี เป็นเอกสารถ่ายสำเนา ("ซีร็อกซ์") ขนาด "จดหมาย" (คือสั้นและกว้างกว่าขนาด "เอ-4" เล็กน้อย) คิดว่าตัวต้นฉบับจริงๆที่ถูก "ซีร็อกซ์" มา (ซึ่งดูจากร่องรอยในซีร็อกซ์ มีขนาดเล็กลงไปอีก) คงเป็นกระดาษแบบแผ่นใสบางๆ ซึ่งฝ่ายซ้ายสมัยก่อนชอบใช้พิมพ์ดีดเอกสารที่ต้องการส่งต่อๆกันในลักษณะ "ปิดลับ" เพราะเมื่อพับแล้วจะเบา และเก็บซ่อนได้ง่าย แต่ต้นฉบับจริงๆที่ผมเดาว่าเป็นแผ่นบางใสที่ว่านี้ ผมไม่มี ดังนั้น เมื่อผมพูดถึง "ต้นฉบับ" ของความเรียงในที่นี้ จึงหมายถึง "ต้นฉบับ" ที่เป็น "ซีร็อกซ์" ที่ผมมีอยู่ในมือเท่านั้น
ตัวความเรียง "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" มีความยาว ๑๔ หน้า พิมพ์ด้วยพิมพ์ดีดแบบไม่ใช่ไฟฟ้า น้ำหนักตัวอักษรจึงไม่สม่ำเสมอ มีเข้มมีจาง ในบางจุดมีการเขียนด้วยลายมือแก้หรือเพิ่มคำที่พิมพ์ผิดหรือตกหล่น ผมไม่เคยเห็นลายมือของนายผี จึงไม่ทราบว่าใช่ลายมือของเขาหรือไม่ แต่อยากจะเดาว่าใช่ ในหน้าสุดท้ายของความเรียง มีการลงชื่อผู้เขียนและเดือนปีที่เขียน ด้วยลายมือเช่นเดียวกัน
ผมจำไม่ได้อย่างแน่นอนเสียแล้วว่าได้ต้นฉบับ "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" นี้มาอย่างไรและเมื่อไร แต่ค่อนข้างมั่นใจว่า เป็นกรณีใดกรณีหนึ่งใน ๒ กรณี คือ ถ้าไม่ใช่ที่ออสเตรเลียในต้นปี ๒๕๒๗ (1984) ก็คงเป็นในประเทศไทยในปีต่อมา ในกรณีแรกนั้น ผมกำลังเริ่มเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยโมแนชในเมืองเมลเบิร์น ผมไปที่นั่นในเดือนมีนาคม ๒๕๒๖ ในช่วงสิ้นปีนั้นต่อต้นปีถัดมา ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งกำลังทำปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ (ปัจจุบันสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา) เดินทางมาเมลเบิร์น ส่วนหนึ่งเพื่อเยี่ยมเยียน อีกส่วนหนึ่งเขารับฝากจากมิตรสหายที่เคยอยู่ในขบวนการฝ่ายซ้ายที่เมืองไทย ให้มาพบปะกับมิตรสหายบางคนที่อยู่ที่เมลเบิร์น ใครที่ผ่านชีวิตการเมืองช่วงหลัง ๖ ตุลา อาจจะยังพอจำได้ว่า สมัยนั้น ฝ่ายซ้ายมีการพูดถึง "การเคลื่อนไหวในต่างประเทศ" อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในการรณรงค์เพื่อให้ "ปล่อยสุธรรม แสงประทุมกับเพื่อน" ออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่มีข่าวการเคลื่อนไหวลักษณะนี้ ผู้ที่เคลื่อนไหว (ส่วนใหญ่ในรูปการออกแถลงการณ์, ทำจดหมายประท้วง) ก็เป็นคนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นมานานหรือไม่ก็นักศึกษาไทยที่เรียนอยู่ที่นั่น เมื่อถึงต้นปี ๒๕๒๗ การเคลื่อนไหวในลักษณะนี้และขบวนการฝ่ายซ้ายไทยโดยทั่วไปอยู่ในภาวะ "ล่มสลาย" แล้ว ผลจากการพบปะมิตรสหายในเมลเบิร์นที่ว่านี้ ทำให้ธงชัย ได้เอกสารฝ่ายซ้ายซึ่งไม่เป็นที่ต้องการแล้ว (จากการ "ล่มสลาย" ของขบวนการ) มาจำนวนหนึ่ง ผมได้เห็นวารสาร สสปท. และ มหาชน-ไทยพิจารณ์ วารสารใต้ดินของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่ชลธิรา สัตยาวัฒนา จัดทำขึ้นในปี ๒๕๒๖ (ในความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะพลิกฟื้นชะตากรรมของขบวนการ) เป็นครั้งแรกก็ด้วยเหตุนี้ ธงชัยเห็นว่าผมกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย จึงยกเอกสารเหล่านี้ให้ผมอีกต่อหนึ่ง ผมคิดว่าต้นฉบับความเรียง "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" เป็นหนึ่งในเอกสารที่ผมได้รับมรดกตกทอดมาในครั้งนั้น
ความเป็นไปได้อีกกรณีหนึ่ง คือ ในระหว่างที่ผมกลับมาใช้เวลาอยู่ในเมืองไทยในปี ๒๕๒๘ เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับวิทยานิพนธ์ ผมได้พยายามรวบรวมเอกสารและสิ่งตีพิมพ์ฝ่ายซ้ายไทยรูปแบบต่างๆมาเก็บไว้ โดยมากก็ขอเอาจากบรรดามิตรสหายเก่าที่ผมรู้จัก คือถ้าใครที่ยังมีเอกสารสิ่งพิมพ์แบบนี้ที่หลงเหลือมาจากชีวิตการเมืองที่ยุติไปแล้ว และไม่ต้องการเก็บไว้ ผมก็แสดงความจำนงจะ "รับบริจาค" หมด ทำให้ได้เอกสารสิ่งพิมพ์แบบนี้มาไว้ในมือมากพอสมควร โดยเฉพาะพวก "วารสาร" ใต้ดินโรเนียวต่างๆ และบรรดา "เอกสารภายใน" ประเภทที่เรียกกันว่าเอกสาร "วิเคราะห์สถานการณ์" และ "คำชี้แนะ" ตามวาระต่างๆ ซึ่งมักจะพิมพ์ด้วยพิมพ์ดีดบนกระดาษใสบางๆที่กล่าวถึงข้างต้น ต้นฉบับ "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" อาจจะเป็นหนึ่งในบรรดาเอกสาร "บริจาค" ที่ว่านี้
ในสองกรณีดังกล่าว ผมมีความจำแบบลางๆว่า เป็นกรณีแรกมากกว่ากรณีหลัง คือผมได้ต้นฉบับงานชิ้นสุดท้ายของนายผีนี้ที่เมลเบิร์นในต้นปี ๒๕๒๗ (1984) ปัญหาคือ ในต้นฉบับหน้าสุดท้าย ที่ลงชื่อผู้เขียนด้วยลายมือนั้น เขียนว่า
สายฟ้า
สิงหาคม 1984
อย่างไรก็ตาม ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ปีที่ลงนี้ผิด คือควรจะเป็นปี 1983 หรือ พ.ศ. ๒๕๒๖ มากกว่า โดยอนุมานเอาจากเนื้อหาของความเรียงที่พาดพิงถึงเหตุการณ์บางอย่าง
เดือนปีที่เขียนความเรียง
ดังที่ผู้อ่านจะพบข้างล่าง, นายผีเขียนความเรียงนี้หลังการถึงแก่กรรมของปรีดี พนมยงค์ และเพื่อเป็นการระลึกถึงปรีดี และมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยเขาขึ้นต้นความเรียงดังนี้
ไม่กี่วันมานี้ได้มีประกาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยว่าให้ชาวธรรมศาสตร์ไปร่วมกันเททองหล่อรูปเคารพของดร.ปรีดี พนมยงค์, ผู้ประศาสน์การ, ที่มหาวิทยาลัยเพื่อเอาประดิษฐานไว้เป็นที่ระลึก ณ มหาวิทยาลัยแห่งนั้น. หลังจากนั้นไม่ทันไร, วิทยุแห่งเดียวกันนั้นก็กลับออกข่าวใหม่ว่าจะมีการเททองหล่อพระพุทธรูปสี่องค์แยกไปประดิษฐานไว้ที่มหาวิทยาลัย, ที่สโมสรธรรมศาสตร์, และที่วิทยาเขตอีกสองแห่ง; ในการนี้กษัตริย์จะมาเองด้วย. เรื่องหล่อรูปดร.ปรีดีเงียบไป.
เราทราบว่าปรีดีถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖ (1983) ถ้านายผีเขียนความเรียงนี้ในเดือนสิงหาคม ๒๕๒๗ (1984) ตามที่ลงไว้ในต้นฉบับจริงๆ ก็หมายความว่าเขียนหลังเหตุการณ์ถึงหนึ่งปีสามเดือน ซึ่งโดยสามัญสำนึก ไม่น่าจะเป็นไปได้สำหรับข้อเขียนประเภทนี้ (ระลึกและไว้อาลัยผู้ตายและการตาย) แต่ถ้าเป็นเดือนสิงหาคม ๒๕๒๖ (1983) ก็นับว่าเข้าเค้ามาก แม้ว่าขณะนี้ ผมยังไม่สามารถค้นหาเหตุการณ์ที่นายผีพาดพิงถึงจากหนังสือพิมพ์สมัยนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นปี ๒๕๒๗ หรือ ๒๕๒๖ แต่โดยลักษณะของเหตุการณ์ (ถ้าสมมุติว่านายผีรายงานได้ถูกต้องตามที่อ้างว่าได้ยินจากวิทยุ) ก็น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๒๖ หลังการถึงแก่กรรมของปรีดีไม่นานมากกว่า ยิ่งกว่านั้น จากการค้นคว้าเบื้องต้นเอกสารเกี่ยวกับการสร้างอนุสาวรีย์ปรีดี (ที่ตั้งอยู่หน้าตึกโดมบน "ลานปรีดี" ทุกวันนี้) ในหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ผมพบว่า สภามหาวิทยาลัยมีมติให้สร้างอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๒๗ มีการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๒๗ และเปิดอนุสาวรีย์ (โดยพระสังฆราช) เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๒๗ ข่าวที่นายผีกล่าวถึง (ถ้าจริง) ก็ไม่น่าจะเกิดในเดือนสิงหาคม ๒๕๒๗ ที่อนุสาวรีย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในทางกลับกัน ในเดือนสิงหาคม ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นช่วงครบรอบ ๑๐๐ วันการตายของปรีดีพอดี ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการออกข่าวทำนองนั้น และที่นายผีกล่าวว่ามีการเปลี่ยนแผน "หลังจากนั้นไม่ทันไร" ก็อาจจะเป็นไปได้เช่นกัน เพราะจากค้นคว้าของผม ดูเหมือนว่า ในช่วงเดือนแรกๆหลังการตาย มหาวิทยาลัยมีความไม่แน่นอนว่าจะทำการระลึกถึงปรีดีในรูปถาวรวัตถุอย่างไร แม้ตอนแรกสภามหาวิทยาลัย จะมีมติอย่างกว้างๆ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ให้ "สร้างอนุสาวรีย์ในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์และที่อื่นๆ" (พร้อมกับมาตรการอีกหลายข้อ เช่น ตั้งกองทุน ฯลฯ) แต่เรื่องก็เงียบหายไป และตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคมปีนั้น (๒๕๒๖) จนถึงต้นปีต่อมา ดูเหมือนว่ามหาวิทยาลัยจะพุ่งความสนใจไปที่การสร้าง "อาคารที่ระลึกท่านผู้ประศาสน์การ" แต่เพียงอย่างเดียว เพิ่งหันมายืนยันให้สร้างอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๒๗ ดังกล่าว (รายละเอียดของการสร้างอนุสาวรีย์ปรีดีและการระลึกในรูปแบบอื่นๆ ผมจะได้นำเสนอเป็นบทความต่างหากในโอกาสหน้า) สรุปว่า มีความเป็นไปได้มากกว่าที่นายผีจะเขียนความเรียงนี้ในเดือนสิงหาคม ๒๕๒๖ (1983) หลังการตายของปรีดีใหม่ๆ (ช่วง ๑๐๐ วัน) ซึ่งยังเต็มไปด้วยข่าวความพยายามจะระลึกปรีดีในรูปต่างๆที่ยังสับสนไม่แน่นอน แต่ใส่ปีที่เขียนผิดไปเป็นปี ๒๕๒๗ (1984)
ข้อสันนิษฐานของผมนี้ ยังสอดคล้องกับข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตนายผีที่มีอยู่ด้วย และทำให้เชื่อได้ว่าความเรียงนี้เป็นงานเขียนแบบเป็นชิ้นเป็นอันชิ้นสุดท้ายในชีวิตของเขา หรืออย่างน้อยก็ชิ้นสุดท้ายที่เขียนในเมืองไทย ก่อนจะถูกกักตัวในลาวจนถึงแก่กรรม
ใน "ความงามของชีวิต" ซึ่งเขียนขึ้นในปี ๒๕๓๒, วิมล พลจันทร หรือ "ป้าลม" ภรรยานายผี ได้เล่าถึงการที่นายผีเดินทางจากฐานที่มั่นจังหวัดน่านเข้าไปในลาวเพื่อ "เจรจาขอซื้อข้าว" และถูกทางการลาวกักตัวไว้ ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น "ภายหลังวันเกิดคุณอัศนีไม่นาน" วันเกิดที่ว่าคือวันเกิดครบ ๖๕ ปี ซึ่งก็คือ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๖ (แต่ในงานเขียนนั้น ป้าลมเขียนผิดหรือไม่สำนักพิมพ์ก็พิมพ์ผิด - และถูกพิมพ์ผิดเช่นนี้เรื่อยมา - ว่าเป็นวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๕) ถ้า "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" ถูกเขียนในเดือนสิงหาคม ๒๕๒๖ ตามที่ผมสันนิษฐาน ก็นับว่าเป็นไปได้ คือเขียนในเดือนสุดท้ายในเขตไทยก่อนการหายเข้าไปในลาว ถ้าเป็นปี ๒๕๒๗ (1984) ตามที่ลงไว้ในต้นฉบับ ก็หมายความว่าเขียนในลาว ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้
ในระหว่างการจัดงาน "นายผีคืนถิ่นแผ่นดินแม่" (การนำกระดูกนายผีจากลาวมาไทย) เมื่อปลายปี ๒๕๔๐ และในการพิมพ์หนังสือที่ระลึกการจัดงานนั้น ๑ เล่ม และรวมงานนายผีทั้ง ๓ ประเภท ๓ เล่ม (บทกวี, บทความ, เรื่องสั้น) ในต้นปีต่อมา ไม่มีการกล่าวว่านายผีได้เขียนงานในระหว่าง ๔ ปีสุดท้ายของชีวิตในลาว (กันยายน ๒๕๒๖ - ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๐) แต่อย่างใด ในหนังสือรวมงานประเภทบทความก็ตีพิมพ์ความเรียงเรื่อง "วิจารณ์แห่งวิจารณ์" ที่นายผีเขียนวิจารณ์หนังสือ วรรณคดีของปวงชน ของชลธิรา สัตยาวัฒนา ในปี ๒๕๑๘ ไว้เป็นบทความชิ้นสุดท้าย โดย วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการได้กล่าวว่า
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ความสำคัญประการหนึ่งของผลงานชิ้นนี้เห็นจะปฏิเสธมิได้ว่า อาจบางทีต้องนับมันเป็นบทวิจารณ์ลำดับสุดท้ายในชีวิตของ "อัศนี พลจันทร" ด้วยถัดจากนั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานอย่างเป็นทางการว่า เขาได้ขีดเขียนผลงานในเชิงนี้เอาไว้ที่ใดอีก อย่างมากก็ยินเพียงเสียงเล่าขานว่า เขาใช้นาม "จิล ผาพันใจ" เขียน "รำพึงถึงรำพึงฯ" เอาไว้ชิ้นหนึ่ง ซึ่งอ้างกันว่าเป็นข้อเขียนประเภทบันทึกกึ่งวิจารณ์ กระนั้นย่อมมิอาจสรุปได้เต็มเสียงเท่าใดนัก ตราบเท่าที่ยังไม่มีการตีพิมพ์ออกมาเผยแพร่-ยืนยัน
ในหนังสือที่ระลึกการจัดงาน "นายผีคืนถิ่นแผ่นดินแม่", มีผู้ระบุว่านายผีเขียน "รำพึงถึงรำพึงฯ" ในนาม "จิล ผาพันใจ" ในปี ๒๕๒๓ (ดู กัญจน์ ชงค์, "นายผี ผู้คระวีวิริยาวุธ", ชีวิตและผลงาน: ตำนาน 'นายผี' อัศนี พลจันทร (๒๔๖๑-๒๕๓๐), หน้า ๑๓๖) ซึ่งถ้าจริง ก็แสดงว่าเป็นงานก่อน "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว"
ส่วนบทกวี ๕ ชิ้นที่ถูกนำมาตีพิมพ์ใน บานไม่รู้โรย เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๙ นั้น ไม่มีการระบุเวลาที่เขียน แต่ดูจากเนื้อหาแล้วก็น่าจะเก่ากว่าความเรียง "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" ยิ่งบทกวีที่ชื่อ "หนิวกุ่ยเสอเสิน" ที่เพิ่งตีพิมพ์ครั้งแรกพร้อม "ความงามของชีวิต" ของป้าลมในปี ๒๕๓๓ นั้น ก็เขียนตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๑๐ ในระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน
โดยสรุป ผมขอเสนอว่า "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" น่าจะถูกเขียนในเดือนสิงหาคม ๒๕๒๖ เพียงประมาณหนึ่งเดือนก่อนนายผีจะเข้าไปติดอยู่ในลาว และยกเว้นแต่ว่าเขาจะได้เขียนอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันในลาว ความเรียงนี้ก็ต้องถือเป็นงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของเขา
สำนวนและวิธีการเขียนความเรียงของนายผี
ผมได้กล่าวในตอนต้นว่า ความเรียง "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" นี้เป็นของนายผีอย่างแน่นอน ไม่ใช่เพียงเพราะ "สายฟ้า" เป็นหนึ่งในนามปากกาของอัศนี พลจันทร เท่านั้น (สุจิรา คุปตารักษ์ กล่าวไว้ในวิทยานิพนธ์ "วิเคราะห์บทร้อยกรองของนายผี" ของเธอว่า "สายฟ้า" ใช้ในการเขียนบทความวิเคราะห์วิจารณ์เหตุการณ์ทางสังคมและการเมือง ผมเองยอมรับว่าไม่เคยเห็นงานนายผีที่เขียนในนาม "สายฟ้า" มาก่อน) แต่เพราะความเรียงนี้เขียนด้วยสำนวนและวิธีการเขียนร้อยแก้วที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของนายผี (ในยุคหลัง)
สิ่งที่สะดุดตาที่สุดของเอกลักษณ์ที่ว่านี้ คือการเขียนแบ่งเป็นประโยคชัดเจนโดยมีจุดจบประโยค (full stop) ทุกประโยค และในแต่ละประโยคมักจะประกอบด้วยอนุประโยค (clauses) ซึ่งแยกกันด้วยเครื่องหมายจุลภาค (comma) อย่างชัดเจนเช่นกัน ทำให้เกิด "จังหวะจะโคน" ของการอ่านผิดกับความเรียงภาษาไทยทั่วไป โดยส่วนตัวผมเห็นว่านี่คือจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดในงานเขียนร้อยแก้วของนายผี แต่ผู้อื่นมักจะกล่าวถึงลักษณะการใช้คำที่กระชับ ไม่ฟุ่มเฟือย และการใช้หรือพาดพิงถึงศัพท์ยากๆทั้งไทยและต่างประเทศ (เช่น สันสกฤต) ผมก็เห็นด้วยว่า อันหลังนี้เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของร้อยแก้วนายผี แต่โดยเปรียบเทียบแล้ว ผมเห็นว่ายังไม่ใช่ถึงกับเป็นจุดเด่นที่เขาแตกต่างจากผู้อื่นโดยเด็ดขาด (เช่นเรื่องการใช้ภาษากระชับ) แต่รูปแบบการเขียนที่แบ่งประโยคและอนุประโยคชัดเจนอย่างสม่ำเสมอที่ว่านั้น ผมเชื่อว่ามีนายผีเพียงคนเดียว
"เพียงคนเดียว" นั่นคือ ยกเว้นในช่วงเวลาสั้นๆในทศวรรษ ๒๕๒๐ ที่มีนักเขียนชื่อดังมากอีกคนหนึ่งหันมาใช้วิธีการเขียนแบบนี้โดยได้รับอิทธิพลจากนายผีเองโดยตรง เนื่องจากเรื่องนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย และเกี่ยวข้องกับนายผีด้วย ผมจึงขออนุญาตเล่า "พ่วง" มากับการเล่าเรื่องของนายผีในที่นี้
ต้นปี ๒๕๒๑ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้รับคำสั่งให้ย้ายเขตงานจากหินร่องก้าไปที่ "หน่วย ๒๐" หรือหน่วยทำงานด้านทฤษฎีของพคท.ในลาว ซึ่งมีนายผีในชื่อจัดตั้งว่า "ไฟ" เป็นสมาชิกหน่วยคนหนึ่ง ทั้งสองได้สร้างมิตรภาพอันใกล้ชิด ตามคำบอกเล่าของเสกสรรค์เองในภายหลัง "เราสนิทกันอย่างรวดเร็ว ถ้าพูดแบบชาวบ้านก็เห็นจะต้องบอกว่า ถูกชะตา…ผมถูกนินทาว่าตัวเองเป็น 'เด็กของสหายไฟ'" และ "ผู้คนที่พบเห็นเราในช่วงเวลาดังกล่าวคงพอจะเดาได้ว่าผมกับ "ลุงไฟ" สนิทกันมาก กระทั่งมีเสียงนินทาจากผู้ที่ไม่ชอบหน้าเราทั้งคู่ว่าผมเป็นเด็กของลุง ซึ่งความหมายของมันในช่วงนั้นล้วนติดลบ"[أ] องค์ประกอบสำคัญของมิตรภาพนี้คือการเขียนหนังสือ ซึ่งเสกสรรค์ได้เล่าไว้อย่างน่าฟัง เนื่องจากช่วยให้เห็นลักษณะเด่นบางอย่างของวิธีการเขียนหนังสือของนายผีเอง จึงขอยกมาให้ดูกันยาวๆดังนี้:
"ลุงไฟ" ได้เสนอให้ผมฆ่าเวลาด้วยการแปลงานลัทธิมาร์กซจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ผมตกลงทำโดยมี "ลุงไฟ" เป็นผู้ตรวจภาษาให้ นอกจากนี้ยังให้ยืมพิมพ์ดีดซึ่งเป็นของรักของหวงอีกด้วย
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมได้ "ลุงไฟ" มาเป็นครูภาษา "ลุงไฟ" ตรวจงานของผมอย่างละเอียดลออ และต่อมาเมื่อผมได้รับคำสั่งให้สังกัดหน่วย ๒๐ อย่างเป็นทางการแล้ว ก็ได้ตรวจงานทุกชิ้นที่ผมเขียนที่นั่น รวมทั้งตรวจบทกวีที่จี๊ด [จีระนันท์ พิตรปรีชา] เขียนขึ้นมาอีกด้วย อันนี้เมื่อเล่าให้ใครๆฟังก็มักจะแปลกใจ เพราะงานเขียนของ "ลุงไฟ" เองมักเต็มไปด้วยศัพท์แสงสารพัด จนบางครั้งก็ดูรุงรังและเข้าใจยาก ส่วนสไตล์การเขียนของผมนั่น ถือความเรียบง่ายมาก่อนอื่น
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องมาตรวจงานของผม "ลุงไฟ" กลับมีส่วนช่วยให้ผมเขียนหนังสือกระชับยิ่งขึ้น วิธีตรวจงานของลุงก็คือ ขีดเส้นแดงหรือเขียนวงกลมล้อมรอบถ้อยคำที่เห็นว่าไม่จำเป็นเพื่อให้ผมพิจารณาตัดคำที่ถึงไม่มีก็ไม่เสียความหมายที่ต้องการเสนอ ซึ่งผลที่ได้ออกมาก็คือ สำนวนการเขียนที่ทุกคำมีหน้าที่ชัดเจน ขาดคำไหนไม่ได้ และไม่มีที่ว่างสำหรับถ้อยคำที่เกินเลย
ยกตัวอย่างเช่นคำว่า "โค่นล้ม" ซึ่งใช้กันแพร่หลายมากในตอนนั้น "ลุงไฟ" บอกให้ผมตัดคำว่า "ล้ม" ออกไป เพราะจะทำให้กระชับขึ้นและความหมายก็ไม่เสีย หรือถ้าบังเอิญผมเขียนคำว่า "กระต๊อบเล็กๆ" ลุงก็จะถามว่า ทำไมต้องมี "เล็กๆ" ด้วย ในเมื่อคำว่ากระต๊อบก็บอกชัดเจนอยู่แล้วว่า มันต้องเล็ก เช่นนี้เป็นต้น
แต่เมื่อมาถึงคำที่ตัวของมันเองประกอบด้วยหลายพยางค์ "ลุงไฟ" กลับไม่เห็นด้วยที่จะทอนให้สั้นลงเพียงเพื่อความสะดวกในการเขียน เช่น คำว่า "ประชาชน" หรือ "ตุลาคม" ลุงว่าไม่ควรเป็น "ประชา" หรือ "ตุลา" เพราะจะทำให้ภาษาเสีย หากจะรักษาความหมายที่ถูกเอาไว้ก็ต้องเขียนให้ครบถ้วยตามคำเดิม ในเรื่องนี้ผมเลยติดหลักภาษาของลุงไฟมาตลอด แม้แต่เวลาเขียนชื่อเดือนในจดหมาย ก็ต้องใส่ให้เต็มทุกพยางค์
พูดกันตามความจริงแล้ว "ลุงไฟ" เคยอ่านงานของผมมา ตั้งแต่เรายังไม่ได้พบกัน คงจะเห็นว่าผมน่าจะเอาดีทางขีดๆเขียนๆได้ จึงได้เอาใจใส่เหมือนลูกศิษย์ก้นกุฏิ แต่นี่เป็นเรื่องของงานร้อยแก้วเท่านั้น สำหรับเรื่องบทกวี "ลุงไฟ" นั่นแหละที่ทำให้ผมเลิกเขียนมาหลายปี
"ผมอ่านกลอนสหายไท [เสกสรรค์] ก็ว่าดี แต่พออ่านของสหายใบไม้ [จิระนันท์] ยิ่งพบว่าดีกว่า" ลุงไฟว่า
ในบันทึกนี้เสกสรรค์กล่าวแต่เพียงว่านายผี "มีส่วนช่วยให้ผมเขียนหนังสือกระชับขึ้น" ในความเป็นจริง มีหลักฐานว่าผลของการได้นายผีเป็น "ผู้ตรวจภาษาให้" ดังกล่าว มีมากกว่านั้น นั่นคือ ในช่วงสั้นๆ (ประมาณ ๒๕๒๓-๒๕๒๕) เสกสรรค์ได้รับเอาวิธีการเขียนร้อยแก้วแบบแบ่งประโยคอนุประโยคชัดเจนของนายผีมาใข้ ตัวอย่างหนึ่งคือบทความ "ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหว ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕" ของเสกสรรค์ ที่ตีพิมพ์ในวารสารธรรมศาสตร์ ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๒๕ บทความนี้ไม่เพียงแต่น่าสนใจในแง่ที่เป็นตัวอย่างการเขียนภาษาไทยแบบนายผีของเสกสรรค์เท่านั้น แต่ยังสำคัญในแง่ที่เป็น "หลักบอก" (landmark) อย่างหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของปัญญาชนรุ่น ๑๔ ตุลา - ๖ ตุลา ที่หันมาประเมินในเชิงบวกต่อปรีดี พนมยงค์ และกรณี ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ด้วย (ดังที่ผมจะได้ชี้ให้เห็นข้างล่าง, ความเรียง "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" ของนายผีเอง ก็ต้องจัดเป็นตัวอย่างหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงในทิศทางนี้) ผู้อ่านที่สนใจโปรดหาบทความของเสกสรรค์ชิ้นนั้นมาดูได้ ในที่นี้ บังเอิญอย่างยิ่งที่ผมพบว่าตัวเองมี "ตัวอย่าง" เล็กๆของการเขียนร้อยแก้วแบบนายผีของเสกสรรค์ในช่วงนั้นอยู่ในแฟ้มเอกสารเก่าๆของตัวเองชิ้นหนึ่ง เป็นจดหมายที่เสกสรรค์ส่งจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ถึงนายกองค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๔ ถ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนนิตยสารอาทิตย์ ของชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ สมัยนั้น เคยเอาจดหมายนี้ไปตีพิมพ์ด้วย แต่ที่ผมมีอยู่ในมือ เป็นต้นฉบับจริง คือเป็นตัวแอโรแกรมม์ (aerogramme) ที่เสกสรรค์พิมพ์ดีดส่งจากอเมริกา (จำไม่ได้เสียแล้วว่าเข้ามาอยู่ในแฟ้มเอกสารเก่าๆของผมได้อย่างไร) ขอคัดลอกมาให้ดูกัน "เล่นๆ"[ب] ข้างล่างนี้ (โปรดสังเกตวิธีเขียนประโยคและอนุประโยคที่ชัดเจนและการใช้เครื่องหมาย comma และ full stop อย่างสม่ำเสมอโดยตลอด เปรียบเทียบกับบทรำลึกถึงนายผีข้างต้นซึ่งเขียนในปี ๒๕๒๘ ที่ไม่มีรูปประโยคชัดเจนและไม่มีเครื่องหมายทั้งสองเลย)
มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์
27 สิงหาคม 2524
เรียน นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอขอบคุณที่กรุณาให้เกียรติเชิญเขียนบทความลงหนังสือของทางองค์การฯ. ทางคุณกำหนดมาว่าให้ส่งต้นฉบับภายในวันที่ 10 กันยายน, ผมคิดว่าคงไม่อาจจะทำได้เพราะได้รับจดหมายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม, หากจะส่งให้ทันตามกำหนดก็ต้องส่งบทความทางไปรษณีย์ภายในวันที่ 1 เดือนกันยายน. รวมเวลาสำหรับเขียนได้เพียง 5วัน. ผมต้องขออภัยที่ไม่อาจทำได้.
ผมได้ห่างเหินการเขียนหนังสือมานาน, โดยเฉพาะด้านบทความ. ฉะนั้นในครั้งต่อไปถ้าอมธ.จะให้เกียรติ, ได้โปรดให้เวลาผมพอสมควร. อีกประการหนึ่ง, ผมยังมีความรับรู้จำกัดรวมทั้งต้องระมัดระวังในทางการเมือง. อาจจะต้องใช้เวลามากในการค้นคว้าและคิดหาวิธีนำเสนอให้เหมาะสม.
อย่างไรก็ตาม, รู้สึกดีใจที่อุตส่าห์ระลึกถึง.
ด้วยความนับถือและหวังดี,
(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)
ในงานของนายผีเอง ผมเชื่อว่าวิธีเขียนแบบนี้เป็นสิ่งที่รับอิทธิพลมาจากภาษาจีน เพราะหลักฐานแรกสุดของการเขียนแบบนี้คือความเรียงที่เขาเขียนเมื่อกลับมาอยู่เมืองไทยหลังจากเป็นหนึ่งในผู้ปฏิบัติงานระดับสูงของพคท.ที่ถูกส่งไปอบรมที่สถาบันลัทธิมาร์กซ-เลนินในประเทศจีน ระหว่างพ.ศ. ๒๔๙๖-๒๕๐๐ ดูเปรียบเทียบ "ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน", "จดหมายในหมู่มิตร" และ "พูดไปสองไพเบี้ย" ที่ตีพิมพ์ในปี ๒๕๐๐-๒๕๐๑ ซึ่งแสดงให้เห็นวิธีเขียนแบบนี้เป็นครั้งแรก กับบทความเกี่ยวกับวรรณคดีที่ตีพิมพ์ในอักษรสาส์น ปี๒๔๙๓ และงานอื่นๆก่อนหน้านั้น ในหนังสือ รวมบทความ (สำนักพิมพ์สามัญชน ๒๕๔๑) สำหรับ "เคล็ดกลอน" และ "เคล็ดแห่งอหังการ" ที่พิมพ์ในปี ๒๕๐๒ และ ๒๕๐๔ แต่ไม่มีเครื่องหมายวรรคตอนเลยนั้น ผมสงสัยว่าเป็นเพราะการตกหล่นของโรงพิมพ์ในการตีพิมพ์ครั้งแรกมากกว่า
นายผีกับมธก.
นายผีเขียน "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" เนื่องในโอกาสการถึงแก่กรรมของปรีดี พนมยงค์ เพื่อระลึกถึงปรีดี และมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก) ที่ปรีดีเป็นผู้ก่อตั้งและนายผีเป็นศิษย์เก่าคนหนึ่ง นายผี ซึ่งเกิดที่ราชบุรีและจบการศึกษาระดับมัธยมต้นที่จังหวัดนั้นและมัธยมปลายที่สวนกุหลาบ ได้เข้าเรียนในมธก.เมื่อปี ๒๔๗๙ หรือเพียง ๒ ปีหลังการสถาปนามหาวิทยาลัย และจบเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตเมื่อปี ๒๔๘๓ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของ "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" เป็นการเล่าถึงชีวิตในมธก.สมัยที่เขาเป็นนักศึกษา โดยเฉพาะการก่อตั้งสิ่งที่เรียกว่า "นิคมมธก." หรือหอพักประจำของนักศึกษาชายและกิจกรรมของ "ชาวนิคม" เช่น การแข่งขันฟุตบอลล์ประเพณีกับจุฬา และการเข้าอบรมก่อนรับปริญญา ซึ่งผู้อ่านจะได้ภาพของอดีตที่มีชีวิตชีวาไม่น้อย ทั้งยังเป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีการเล่ากันมาก่อน นายผีเอง หลัง ๖ ตุลาได้เล่าประสบการณ์ส่วนตัวในรูปจดหมายถึงปัญญาชนรุ่น ๑๔ ตุลาที่เพิ่งเข้าป่า โดยเล่าถึงจำกัด พลางกูร, อิศรา อมันตกุล, ชิต บูรทัต และ นมส. เป็นต้น แต่ดูเหมือนจะไม่เคยเล่าถึงมธก.[ت]
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับงานประเภทรำถึงรำพันถึงอดีต (nostalgia) ทั่วไป ผมคิดว่านายผีมีแนวโน้มที่จะให้ภาพที่สวยงามเกินจริงเกี่ยวกับชีวิตชาวนิคมมธก.ในช่วงนั้นใน สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๕๑๑ (ดอกหญ้า, ๒๕๓๕, หน้า ๑๐๐) ชาญวิทย์ เกษตรศิริและคณะได้กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า
แนวความคิดในการจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยนิคม" หรือหอพักประจำของนักศึกษาชายในมหาวิทยาลัย ได้มีการริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี ๒๔๗๘ และปรากฏเป็นจริงในปี๒๔๗๙ แต่ดำเนินการได้เพียง ๔ ปี ก็ยุบเลิกไปในปี ๒๔๘๒ …..
การจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยนิคม" (๒๔๗๙-๒๔๙๒) นั้น นอกจากเหตุผลที่ว่า ต้องการให้นักศึกษาชายในต่างจังหวัดซึ่งเดือดร้อนเรื่องที่พัก ได้มีโอกาสในการศึกษาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเช่นเดียวกับคนกรุงเทพฯแล้ว เป้าหมายอีกประการหนึ่งก็คือ การฝึกฝนให้นักศึกษาได้ใช้ชีวิตรวมหมู่ เกิดสามัคคีธรรมต่อกัน ทั้งที่ปรากฏว่ามหา-วิทยาลัยเข้มงวดกวดขันกับนักศึกษาในนิคมเป็นอย่างมาก ควบคุมเวลาเข้าออก การใช้ไฟ การนอน การทำความสะอาด การมีญาติมาเยี่ยมเยือน ต้องเป็นไปตามวินัยนักศึกษาอย่างเข้มงวด จนปรากฏว่าความเข้มงวดทางวินัยเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดการวิวาทระหว่างผู้อำนวยการนิคม คือศาตราจารย์ฮัตเจสสันกับนักศึกษาหลายครั้งหลายหน
การที่นักศึกษาได้เข้ามาพำนักในนิคมภายใต้ระเบียบที่ค่อนข้างเข้มงวด ก็สามารถสร้างความสมัครสมานกลมเกลียวกันในหอพักได้ เพราะนักศึกษาจะได้กินอาหารเล่นกีฬา และท่องเที่ยวไปด้วยกันเสมอ การทำความรู้จักซึ่งกันและกันจึงทำได้ง่าย
เป็นที่น่าเสียดายที่กิจการนิคมฯไม่สามารถจะขยายใหญ่โตต่อไปได้ มีนักศึกษาเข้ามาพำนักในปีแรกเพียงประมาณ ๗๐ คน และในปี ๒๔๘๑ ซึ่งเป็นช่วงที่มีนักศึกษาพำนักมากที่สุด ก็มีเพียงประมาณ ๑๐๐ คนเศษเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความที่มหาวิทยาลัยคับแคบไม่มีห้องเรียนที่พอเพียงให้แก่นักศึกษา จึงทำให้กิจการของนิคมต้องล้มเลิกไปในที่สุด
โดยทั่วไป ชาญวิทย์และคณะยังได้วาดภาพชีวิตและกิจกรรมของนักศึกษาในมธก.ช่วงนั้นในลักษณะที่เรียกได้ว่า "โรแมนติก" น้อยกว่านายผี
มหาวิทยาลัยก็มิได้กำหนดให้ต้องมาเข้าเรียน นักศึกษาเพียงแต่มาลงทะเบียนและซื้อเอกสารคำบรรยายเพื่อไปอ่านเองเท่านั้น ดังนั้นในวันหนึ่งๆจะมีผู้มาเข้าเรียนเพียงประมาณร้อยคนเศษ ยิ่งไปกว่านั้นการบรรยายของมหาวิทยาลัยก็มีเพียงแต่ภาคเช้าคือ ตั้งแต่เวลา ๘.๐๐-๑๐.๐๐ น. นักศึกษาจึงมีเวลาเพียงเล็กน้อยในชีวิตประจำวันของตนที่จะมาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของทางมหาวิทยาลัย
ฉะนั้นจึงปรากฏว่า เมื่อทางมหาวิทยาลัยประกาศรับสมัครนักศึกษาเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมของทางมหาวิทยาลัยในเทศกาลฉลองรัฐธรรมนูญประจำปีวันที่ ๑๐ธันวาคม ๒๔๗๗-๒๔๗๙ ที่วังสราญรมย์ ก็จะมีนักศึกษาเข้าร่วมในงานนี้เพียงร้อยคนเศษเท่านั้น หรือแม้แต่การแข่งขันฟุตบอลประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯกับจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๓ เมื่อปี ๒๔๗๙ ซึ่งมีขึ้นที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบฯก็มีนักศึกษามธก.ไปร่วมเชียร์เพียงประมาณ ๓๐๐ คนเท่านั้น…
….การแข่งขันฟุตบอลประเพณีเริ่มต้นตั้งแต่ปี ๒๔๗๗ ซึ่งเป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยได้เริ่มการก่อตั้ง ในระยะแรกคนดูไม่มากนัก ก่อนหน้าปี ๒๔๘๑ กองเชียร์ของมธก.ที่เข้าร่วมงานนี้ มักไม่มากไปกว่า ๓๐๐-๔๐๐ คน และเป็นที่เล่าลือกันมาว่ากองเชียร์ฝ่ายธรรมศาสตร์ค่อนข้างจะ "กะพร่องกะแพร่ง" มากๆ…
….มหาวิทยาลัยเปิดบรรยายเพียงวันละ ๒ ชั่วโมง คือตั้งแต่เวลา ๘.๐๐-๑๐.๐๐ น.เท่านั้น ฉะนั้นชีวิตของนักศึกษาจึงผูกพันกับโลกภายนอกมากกว่าที่จะผูกพันกับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเป็นเพียงกิจกรรมในชีวิตประจำวันสั้นๆเท่านั้น
….นักศึกษาที่มาเข้าเรียนฟังคำบรรยายนี้เป็นเพียงส่วนน้อยมากของนักศึกษาทั้งหมด ประมาณกันว่า ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะมีนักศึกษาเข้าฟังคำบรรยายประมาณวันละ ๑๐๐ คนเศษ….
ในความเป็นจริง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ "ชีวิตมหาวิทยาลัย" มีลักษณะ "เป็นรูปเป็นร่าง" ขึ้น ไม่ใช่ "นิคมมธก." ที่นายผีกล่าวถึง แต่คือโรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ "ต.มธก." ที่เริ่มขึ้นในปี ๒๔๘๑ และมีอายุอยู่ถึง ๑๐ ปี คือถึงปี ๒๔๙๐ รวมนักเรียน ต.มธก.ทั้งหมด ๘ รุ่น (รุ่นแรก ๒๔๘๑ รุ่นสุดท้าย ๒๔๘๘ อีก ๒ ปีที่เหลือไม่มีการรับ แต่มีการเรียนจนรุ่นที่ ๘ จบในปี ๒๔๙๐) ต่างจากนักศึกษามธก., นักเรียนต.มธก. "ต้องมาเรียนร่วมกันตามกำหนดเวลาที่แน่นอนตั้งแต่ ๘.๐๐-๑๖.๐๐ น. มีผลทำให้นักเรียนได้ใช้ชีวิตร่วมกันภายในรั้วมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดสปิริตของการรวมกลุ่มก้อน เกิดความสามัคคีขึ้น" (ชาญวิทย์และคณะ, หน้า ๑๐๐)
นายผีไม่เพียงให้ความสำคัญเกินจริงกับ "นิคมมธก." ในส่วนที่เกี่ยวกับ "ชีวิตมหาวิทยาลัย" เท่านั้น (น่าสังเกตว่าเขาไม่ได้เอ่ยถึง ต.มธก.เลย คงเป็นเพราะว่ากว่าที่นักเรียนต.มธก.รุ่นแรกสุดจะจบหลักสูตรและเข้ามาเป็นนักศึกษามธก.จริงๆ นายผีก็สิ้นสุดความเป็นนักศึกษามธก.พอดี) เขายังเขียนราวกับว่า "ชาวนิคม" และนักศึกษารุ่นก่อนสงคราม(เช่นเดียวกับเขา) มีบทบาทสำคัญต่อการเกิดขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา:
ประยูร ภมรมนตรี, เจ้ากรมยุวชนทหาร, ไม่รู้ว่าการเข้าไปในมธก.เพื่อยุให้นักศึกษาเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสนั้นแท้จริงเป็นการพิสูจน์การนำของพรรคการเมืองชนชั้นกรรมาชีพแท้ๆ, ทำให้มวลนักศึกษาเดินตามการนำที่ถูกต้องของพรรคแห่งชนชั้นกรรมาชีพซึ่งได้รับการทดสอบอย่างนองเลือดในครั้งนั้น.
ในความเป็นจริง นอกจากว่าพคท. ("พรรคแห่งชนชั้นกรรมาชีพ") จะตั้งอย่างเป็นทางการหลังเหตุการณ์เดินขบวนเรียกร้องดินแดนในปี ๒๔๘๓ ที่นายผีกล่าวถึง จึงยากจะมี "การนำที่ถูกต้อง" ให้ "ทดสอบอย่างนองเลือด" อะไรได้แล้ว (อย่าว่าแต่การเดินขบวนครั้งนั้นยากจะมีเลือดสักหยด!) การเคลื่อนไหวของนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่พรรคเข้าไปมีบทบาทด้านความคิดและการจัดตั้ง ("เรียกร้องมหาวิทยาลัยคืน", "สันติภาพ") ไม่ได้เกิดขึ้นจนสิบปีหลังจากนั้น (ผมได้บรรยายการเกิดขบวนการนักศึกษาธรรมศาสตร์และบทบาทของพรรคไว้ในวิทยานิพนธ์ The Communist Movement in Thailand, Monash Unversity, 1993, pp. 320-333)[ث]
ใน "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว", นายผีอธิบายการสถาปนามธก.ของปรีดี พนมยงค์ เช่นเดียวกับที่อธิบายกรณี ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การ "ดลใจและจัดตั้ง"ของปรีดีเช่นกัน ในฐานะความพยายามของชนชั้นกระฎุมพีไทยที่จะสถาปนาระบอบทุนนิยมขึ้นในประเทศไทย แต่ความพยายามของชนชั้นกระฎุมพีที่มีคณะราษฎรเป็นตัวแทนนี้ล้มเหลว เพราะความอ่อนแอทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของชนชั้นนั้น อันเนื่องมาจากการดำรงอยู่ของ "ระบอบขูดรีดศักดินานิยม" ที่ได้รับการค้ำจุนจาก "จักรพรรดินิยม" การสถาปนามธก.คือการสร้าง "สถานฝึกอบรม" เพื่อ "เพาะผู้ปฏิบัติงานใหม่ให้แก่ระบอบของพวกกระฎุมพี" แต่การที่ในที่สุดแล้ว มวลนักศึกษาหันมา "เดินตามการนำที่ถูกต้องของพรรคแห่งชนชั้นกรรมาชีพ" ก็เป็นการแสดงให้เห็นความอ่อนแอและล้มเหลวของชนชั้นกระฎุมพี
นี่คือการมองสังคมและประวัติศาสตร์ไทยตามทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาที่พคท.ยึดถืออยู่ในขณะนั้น การที่นายผีซึ่งเป็นสมาชิกพรรคมา ๓๓ ปีขณะเขียน "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" จะมองสังคมและประวัติศาสตร์ไทยในลักษณะนี้ โดยตัวเองไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร (ผมได้เสนอในวิทยานิพนธ์ของผมว่า นายผีน่าจะเข้าเป็นสมาชิกพรรคในช่วงเดือนหลังๆของปี ๒๔๙๓ โดยวิเคราะห์จากความเปลี่ยนแปลงด้านเนื้อหาของบทความประจำที่เขาเขียนให้อักษรสาส์นในปีนั้น) แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อถึงปลายปี๒๕๒๖ ที่นายผีเขียนความเรียงนี้ ทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาได้ถูกโจมตีอย่างหนักมา ๔ ปีแล้ว (ดูบทความชุด "บันทึกกบฎ" ที่เขียนในปี ๒๕๒๒ ของ ยุค ศรีอาริยะ, พิมพ์รวมเล่มโดยสำนักพิมพ์เส้นทาง, ๒๕๒๓) และขบวนปฏิวัติที่นำโดยพคท.ก็ได้แตกเป็นเสี่ยงๆแล้ว ไม่เพียงแต่อดีตนักศึกษาที่เข้าร่วมกับพรรคหลัง ๖ ตุลาจะแยกตัวออกมาเกือบหมด เขตงานในชนบทของพรรคก็พังไปเกือบหมดแล้วเช่นกัน นอกจากส่วนที่ถูกรัฐบาลตีแตกแล้ว (เช่นฐานที่มั่นจังหวัดน่านที่นายผีอยู่เมื่อเขียนความเรียง ก็ถูกตีแตกหลังจากนายผีหายเข้าไปในลาวเพียงไม่กี่สัปดาห์) บางส่วนโดยเฉพาะที่ภาคอีสาน ยังเกิดการเข้ามอบตัวอย่างขนานใหญ่ ที่สำคัญ อดีตนักศึกษาที่แยกตัวออกมาและผู้เข้ามอบตัวเหล่านี้จำนวนมากให้เหตุผลว่า เพราะไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์สังคมไทยว่าเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาของพรรค (ดูตัวอย่างได้จาก ธิดา ถาวรเศรษฐ และ เหวง โตจิรากร, ป่าแตก: ความเป็นจริงของการประชุมสมัชชาฯ ๔ พคท., สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๒๖) การที่นายผีในเดือนสิงหาคม ๒๕๒๖ ยังยืนยันที่จะวิเคราะห์สังคมและประวัติศาสตร์ไทยในลักษณะนี้จึงเป็นการประกาศจุดยืนความเป็นผู้เคร่งในแนวทางพรรค (orthodoxy) ของเขาอย่างรุนแรง สวนกระแสผู้ที่ออกมาคัดค้านพรรคในประเด็นนี้โดยตรง และก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เตือนว่า ในการพูดถึงความขัดแย้งและวิกฤตในขบวนปฏิวัติที่นำโดยพคท.ในสมัยนั้น ไม่ควรเหมารวมเอานายผีเป็นพวก "กบฎพรรค" แบบเดียวกับอดีตนักศึกษาหลายคนอย่างง่ายๆ (อันที่จริงเป็นอุทธาหรณ์เตือนด้วยว่าไม่ควรเหมารวมความขัดแย้งระหว่างอดีตนักศึกษากับพรรคว่ามีลักษณะเดียวกันในทุกกรณีอย่างง่ายๆด้วย)[ج]
แน่นอนว่า ทุกวันนี้ ในภาวะที่ไทยได้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกอย่างแนบแน่น และชนชั้นนายทุนไทยได้กลายมาเป็นชนชั้นนำของสังคมโดยเด็ดขาด ทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาของนายผี (และพคท.) ที่ยืนยันว่าทุนนิยม "ไม่สามารถพัฒนา…ให้ใหญ่โต" ในประเทศไทยได้, และการ "เฟื่องขึ้นในระดับที่แน่นอน" ของทุนนิยมในไทย "เป็นเพียงรูปภายนอกและปรากฏการณ์ที่ฉาบฉวยดุจดอกมะเดื่อ", คงจะดูล้าสมัยอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่ควรลืมว่าภาวการณ์ที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเข้ามาของทุนอย่างมหาศาลในปลายทศวรรษ ๒๕๒๐ คือหลังจากนายผีเขียน "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" แล้ว และยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงได้ว่า ถึงแม้ทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาโดยรวมจะเป็นทฤษฎีที่อ่อนแอสำหรับอธิบายสังคมไทย เช่น ชนบทไทยหลังสมัยรัชกาลที่ ๕ ควรถือว่ามีลักษณะ "ก่อนทุนนิยม" (ชาวนาอิสระมีที่ดินทำกินของตัวเองขนาดเล็ก) มากกว่า "ศักดินานิยม" (ชาวนาไร้ที่ดินถูกผูกติดกับระบอบค่าเช่าของเจ้าที่ดิน), แต่บางด้านของทฤษฎีนี้สะท้อนความจริงบางอย่างของประวัติศาสตร์ไทยหรือไม่?นอกจากความ "ล่าช้า" ของการเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว (ต้อง "รอ" ถึงปลายทศวรรษ ๒๕๒๐ และจนทุกวันนี้ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นอุสาหกรรมโดยสมบูรณ์แล้ว) ประเด็น"ความอ่อนแอของชนชั้นกระฎุมพี" ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ทุกวันนี้ วงวิชาการหันมาให้ความสำคัญกับ ๒๔๗๕ ในฐานะเป็น "การปฏิวัติ" (ไม่ใช่ "รัฐประหาร" อย่างที่นายผีเรียก)โดยมองว่าเป็นสิ่งที่ทั้งจำเป็นและประสบความสำเร็จ (แต่จะอธิบายการที่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ไม่ได้เป็นแม้แต่ "วันหยุดราชการ" ทุกวันนี้อย่างไร?) แต่ความจริงที่ว่า ๒๔๗๕ ถูกถือเป็น"การปฏิวัติชนชั้นกลาง" เช่นเดียวกับ ๑๔ ตุลา และ ๑๗ พฤษภา โดยตัวเองก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงต้องมี "การปฏิวัติชนชั้นกลาง" หลายครั้ง ถ้าไม่ใช่เพราะ "ชนชั้นกลาง" มีความอ่อนแอ และประสบความล้มเหลว (หรือไม่สำเร็จทั้งหมด) จากการปฏิวัติครั้งหนึ่ง จนต้องมีใหม่อีกครั้ง? และทุกวันนี้ก็ไม่อาจพูดได้ว่ามี "ประชาธิปไตยกระฎุมพี" จริงๆ ในแง่การยอมรับทางหลักการโดยไม่มีข้อยกเว้นว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย และมีเสรีภาพในการเชื่อและการแสดงออก เราไม่สามารถอภิปรายปัญหาทางทฤษฎีเหล่านี้ในที่นี้ได้ ผมเพียงต้องการเสนอว่า ไม่ควรด่วนสรุปว่าการมองประวัติศาสตร์ไทยแบบนายผีและพคท. ขาดน้ำหนักโดยสิ้นเชิงทุกด้าน ถ้าทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาไม่ได้บอกความจริงบางอย่างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยเลย ในสมัยหนึ่งคงไม่ได้รับการยอมรับอย่างมากไม่เพียงแต่จากนายผี หรือพคท. แต่จากนักวิชาการสมัยใหม่หลายคนด้วย (เช่น ฉัตรทิตย์ นาถสุภา และ สังศิต พิริยะรังสรรค์)
นายผีกับปรีดี
"ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" เป็นหลักฐานยืนยัน orthodoxy แบบพคท.ของนายผี ขณะเดียวกัน ผมขอเสนอว่าความเรียงนี้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงบางอย่างของเขาในแง่ที่อาจเรียกได้ว่า "น้ำเสียง" หรือ "ท่าที" ต่อปรีดี พนมยงค์ และ ๒๔๗๕ เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้จำเป็นต้องย้อนเล่าประวัติชีวิตนายผีเล็กน้อย
หลังจบจากมธก. นายผีเข้ารับราชการเป็นอัยการในกรุงเทพในปี ๒๔๘๔ พร้อมกับเริ่มชีวิตนักเขียนที่เอกชนรายสัปดาห์กับจำกัด พลางกูร เพียงเวลาสั้นๆก็ถูกย้ายไปปัตตานีระหว่างสงครามและหยุดเขียน (๒๔๘๕-๒๔๘๗) หลังจากนั้นย้ายไปอยู่สระบุรี ๔ ปี จนถึงปี ๒๔๙๑ จึงย้ายไปอยู่อยุธยา ๑ ปีแล้วย้ายกลับมากรุงเทพ ตั้งแต่ช่วงย้ายไปอยู่สระบุรีก็เริ่มเขียนให้กับหนังสือในเครือไทยพาณิชยการ (นิกรวันอาทิตย์, สยามนิกร, สยามสมัย) ในปี ๒๔๙๒ เมื่อสุภา ศิริมานนท์ตีพิมพ์อักษรสาส์นซึ่งในเวลาไม่นานจะกลายเป็นวารสารแนวทฤษฎีมาร์กซิสต์ นายผีก็หันมาเขียนบทวิจารณ์วรรณคดีให้ที่นั่นด้วย ปีต่อมาเขาเข้าเป็นสมาชิกพคท.
ผมคิดว่ามีเหตุผลที่จะตั้งสมมุติฐานว่าในฐานะศิษย์มธก.รุ่นแรกๆ นายผีคงจะรู้สึกเคารพยกย่องปรีดีเป็นพิเศษ สุภาพสตรีเจ้าของบ้านที่เขาเช่าสมัยอยู่ปัตตานีและผู้ซึ่งนายผีดูเหมือนจะใช้เป็น "ต้นแบบ" ของตัวละครชื่อ "ฟาตีมะห์" ในเรื่องสั้นบางเรื่องของเขา ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า "กับหลวงประดิษฐ์แกพูดถึงแกรักมาก เหมือนกับพ่อแก" ("ฟาตีมะห์ในมิติตัวอักษรและเลือดเนื้อ", ถนนหนังสือ, ตุลาคม ๒๕๒๘, หน้า ๒๕ ควรสังเกตว่า "ฟาตีมะห์" สนิทกับนายผีหลังจบมธก.เพียง ๒ ปี ไม่มีหลักฐานว่าได้ติดต่อใกล้ชิดหลังนายผีย้ายจากปัตตานีแล้ว หรือว่านายผียังมีทัศนะต่อปรีดีเช่นนี้หลังจากนั้นนานเพียงใด) นอกจากนี้แวดวงความสัมพันธ์ส่วนตัวของเขารวมถึงบุคคลอย่างจำกัด พลางกูรและภรรยา (ฉลบฉลัยย์), เสนีย์ เสาวพงศ์ และสุภา ศิริมานนท์ ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่รู้จักปรีดีเป็นส่วนตัวและให้ความเคารพปรีดีอย่างสูงตลอดชีวิต ถึงระดับที่เรียกว่าปรีดี "ใช้ให้ทำอะไรทำให้หมด" (นี่เป็นคำที่สุภาบอกผมเอง สุภากล่าวว่าปรีดีเป็นผู้เดียวในชีวิตที่เขายอมทำเช่นนั้น กรณีฉลบฉลัยย์ ผมรู้จักเป็นส่วนตัว และยืนยันได้ถึงระดับความเคารพสูงสุดต่อปรีดี) ในอีกด้านหนึ่ง ต่างกับบุคคลเหล่านี้ ดูเหมือนว่านายผีจะไม่เคยสัมพันธ์กับปรีดีเป็นส่วนตัว ยกเว้นในฐานะบัณฑิตมธก.ที่เข้าพบผู้ประศาสน์การเป็นรายคนตามที่เล่าในความเรียงนี้ และในระหว่างสงครามก็ไปอยู่ที่ปัตตานี ทำให้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม "เสรีไทย" กับปรีดี ต่างจากจำกัด, เสนีย์ หรือสุภา[ح] ช่วงจากปลายสงครามเมื่อเขาหันกลับมาเขียนหนังสืออีกถึงตอนเริ่มเขียนให้อักษรสาส์นและเริ่มรับอิทธิพลลัทธิมาร์กซ (คือระหว่าง ๒๔๘๗-๒๔๙๑) ส่วนใหญ่อยู่ในสมัยที่ปรีดีเป็นใหญ่ทางการเมือง ก็ไม่มีหลักฐานว่านายผีได้สัมพันธ์กับหรือเขียนสนับสนุนปรีดีเป็นพิเศษแต่อย่างใด ในทางกลับกัน เมื่อปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างวิกฤตกรณีสวรรคต บทกวีของนายผีถูกเซ็นเซอร์อย่างหนัก แต่ดูเหมือนไม่ใช่เพราะแอนตี้รัฐบาล แต่เพราะไปด่าพวกนิยมเจ้ามากเกินไป จนเจ้าหน้าที่กลัวว่าจะทำให้เกิดความไม่สงบ ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อพวกนิยมเจ้า (เช่น คึกฤทธิ์ ปราโมช) ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่นายผีแสดงออกอย่างคงเส้นคงวา[خ]
ช่วงที่นายผีเข้าพรรคในปี ๒๔๙๓ พอดีตรงกับระยะที่การประเมินปรีดีและ ๒๔๗๕ ของพคท.ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นไปในทางบวก เริ่มเปลี่ยนไปในทางลบ แสดงออกอย่างสำคัญใน ไทยกึ่งเมืองขึ้น ของ อุดม สีสุวรรณ ในนามปากกา "อรัญญ์ พรหมชมภู" ที่พรรคตีพิมพ์ในปีนั้น (ผมได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ใน The Communist Movement in Thailand, pp. 217-219, 272-275. ความสัมพันธ์ระหว่างพคท.กับปรีดี เป็นประเด็นใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างมหาศาลต่อความเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับขบวนการฝ่ายซ้าย ซึ่งไม่สามารถกล่าวโดยละเอียดในที่นี้ได้ ผมตั้งใจจะเขียนถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้) ไม่กี่เดือนก่อนเข้าพรรคซึ่งจัดว่าเป็นช่วง "เปลี่ยนผ่าน" ทางความคิดของเขา นายผียังคงพูดถึง ๒๔๗๕ ในฐานะ "การปฏิวัติ" แต่ขณะเดียวกันก็กล่าวว่าสังคมสยาม "หลังจากการปฏิวัติเมื่อเดือนมิถุนายน 2475" เป็น "สังคมกึ่งศักดินา" ที่ "งานด้านวัฒนธรรมมิได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายอะไร" ("ชำเลืองดูวรรณคดีไทย", อักษรสาส์น, มิถุนายน ๒๔๙๓ และใน รวมบทความ, หน้า ๑๙๖ ในที่นี้นายผียังแสดงความ "ไม่ลงตัว" ทางทฤษฎีอยู่บ้าง คือเขายังกล่าวว่าสังคมสยาม "ได้คลี่คลาย" จากสังคมศักดินาเป็น "กึ่งศักดินา" หลัง ๒๔๗๕ ในงานของอุดมและในแนวคิดของพรรค สังคมสยามกลายเป็นกึ่งศักดินาตั้งแต่จักรพรรดินิยมเข้ามาในรัชกาลที่ ๔-๕ และกรณี ๒๔๗๕ ไม่ได้ทำให้เกิดความ "คลี่คลาย" ของระบอบสังคม) หลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือน นายผีเป็นครั้งแรกเรียกสังคมไทยว่า "มีสภาพกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา" และในหัวข้อ "การวิเคราะห์รูปของสังคมสยาม" เขาละเลยไม่กล่าวถึง ๒๔๗๕ แม้แต่คำเดียว ("ข้อกังขา 3 ประการในวรรณคดีของไทย", อักษรสาส์น, กันยายน ๒๔๙๓ และใน รวมบทความ, หน้า ๒๐๒-๒๐๕, ๒๐๙) ที่สำคัญ เขาเขียนสรุปว่า
ในการศึกษาเพื่อการวิเคราะห์ระบบสังคมของสยามที่วางหลักลงไปได้โดยสมบูรณ์นั้น อาจศึกษาได้จากผลงานค้นคว้าที่ยิ่งใหญ่ของ "ศรีอรัญญ พรหมชมพู" เรื่อง "ไทย-กึ่งเมืองขึ้น" ซึ่งเป็นผลงานค้นคว้าที่เปิดโปงระบบศักดินาในสยามและเปิดโปงฉีกหน้ากากจักรพรรดินิยมและชนชั้นปกครองที่กดขี่ของสยามอย่างสิ้นเชิง และอย่างถูกต้องกับความจริงที่เป้นจริงอย่างเด็ดขาด
เมื่อถึงครึ่งหลังของทศวรรษ ระหว่างที่นายผีและผู้ปฏิบัติงานพรรคจำนวนมากรับการอบรมลัทธิมาร์กซอยู่ในประเทศจีน ความสัมพันธ์ระหว่างพคท.กับปรีดีซึ่งกำลังลี้ภัยอยู่ที่นั่นก็ตกต่ำลงอย่างหนัก เราไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่านายผีคิดอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงนี้ แน่นอน นายผีไม่ใช่ศิษย์ธรรมศาสตร์คนเดียวที่เข้าร่วมกับพคท.ในทศวรรษ ๒๔๙๐ ในความเป็นจริง ธรรมศาสตร์อาจจะเป็นแหล่งรวมหรือระดม (recruitment) สมาชิกพรรคที่ใหญ่ที่สุดของทศวรรษนั้นก็ได้ รวม วงษ์พันธ์, เปลื้อง วรรณศรี, อาทร พุทธิสมบูรณ์, เสนาะ พาณิชย์เจริญ, ไวทูรย์ สินธุวณิชย์, ผิน บัวอ่อน, อุดม เจริญรัตน์, ประจวบ อัมพะเศวต, วินัย เพิ่มพูนทรัพย์, สนอง มงคล, กระจ่าง พูนพิพัฒน์, สัมผัส พี่งประดิษฐ์, สมพงษ์ พึ่งประดิษฐ์ เป็นต้น ล้วนแต่เป็นสมาชิกพรรคที่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ในวาระต่างๆกันระหว่างทศวรรษนั้น ทั้งนี้ยังไม่รวมอีกหลายคนที่ "รู้ๆกัน" ในแวดวงพวก "หัวก้าวหน้า" ในขณะนั้นว่ามีความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับพรรค เช่น นิคม จันทรวิทูร, อดุลย์ วิเชียรเจริญ หรือแม้แต่ ปาล พนมยงค์ บุตรชายของปรีดีเอง คนเหล่านี้บ้างก็อยู่เมืองจีนพร้อมนายผี และต้องรับรู้ความขัดแย้งระหว่างพรรคกับตัวปรีดีที่นั่นโดยตรง ส่วนพวกที่อยู่เมืองไทยแม้ว่าจะเป็นไปได้ว่าไม่ได้รู้ถึงความขัดแย้งนั้น แต่ในด้านทฤษฎีที่พรรคหันมาปฏิเสธหรือไม่ให้ความสำคัญกับปรีดีและ ๒๔๗๕ ก็น่าจะตระหนักอยู่ แน่นอนว่าคงไม่ใช่ธรรมศาสตร์ทุกคนที่เข้าพรรคหรือใกล้ชิดกับพรรคในทศวรรษนี้จะเคยผ่านการเป็นผู้นิยมปรีดีมาก่อน ถ้าไม่นับปาล พนมยงค์แล้ว กรณีนายผีซึ่งเคยเป็น มธก.รุ่นแรกๆ และเคย "รัก[ปรีดี]มากเหมือนกับพ่อ" จึงน่าสนใจเป็นพิเศษกว่าคนอื่นๆ
ดังที่กล่าวว่า เราไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างแน่ชัดว่านายผีมีทัศนะต่อปรีดีอย่างไรตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ ๒๔๙๐ เป็นต้นมา แต่นอกจากสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่แสดงออกในบทความอักษรสาส์นตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ ข้างต้นแล้ว ผมเชื่อว่ามีเหตุผลอย่างน้อยอีก ๓ ประการที่ทำให้คิดได้ว่านายผีน่าจะมีทัศนะเชิงลบต่อปรีดีและ ๒๔๗๕ ไม่ต่างไปจากพรรคคือ
หนึ่ง ไม่มีการพูดถึงปรีดีหรือ ๒๔๗๕ เลยในงานตีพิมพ์ช่วง ๒๕๐๐ ของเขาโดยเฉพาะที่เป็นร้อยแก้ว จริงอยู่ งานเหล่านี้ทั้งหมดเกี่ยวกับวรรณคดี ("ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน", "เคล็ดกลอน", "เคล็ดแห่งอหังการ", "จดหมายในหมู่มิตร" และ "พูดไปสองไพเบี้ย") แต่หากนายผีจะพาดพิงถึงประวัติศาสตร์หรือ ๒๔๗๕ ก็ย่อมทำได้ ถ้าเป็นสิ่งสำคัญในใจเขาขณะนั้น และอย่างน้อยใน "ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน" มีอยู่จุดหนึ่งที่เขากล่าวถึง "การคลี่คลายขยายตัว" ของสังคมไทยจาก "สังคมบรรพกาล…สมัยทาส…สมัยศักดินานิยม" สู่ยุคกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา แต่ไม่เอ่ยถึง ๒๔๗๕ (รวมบทความ, หน้า ๒๕๓ ควรเปรียบเทียบกับบทความอักษรสาส์นฉบับมิถุนายน ๒๔๙๓ ข้างต้น)
สอง ในความเรียงขนาดยาวที่ถูกตีพิมพ์ในปี ๒๕๑๘ ภายใต้ชื่อ "โต้ลัทธิแก้ไทย" นายผีเขียนว่า "ในปี ๒๔๗๕ พวกกระฎุมพีได้เป็นกบฎลุกขึ้นโค่นอำนาจปกครองอัตตาธิปไตยของพวกผู้ดีศักดินาลง, เข้าแบ่งปันอำนาจแล้วก็ได้ค่อยๆทำให้คำกระฎุมพีกับไพร่หมดไปจากพจนานุกรมด้วยความกระดาก" (อุทิศ ประสานสภา, โต้ลัทธิแก้ไทย, สำนักพิมพ์ประกายไฟไหม้ลามทุ่ง, ๒๕๑๘, หน้า ๓๘ โปรดสังเกตว่าไม่ได้ใช้คำว่า "ปฏิวัติ") ใน "วิจารณ์แห่งวิจารณ์" และ กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตง ที่ตีพิมพ์ในปีเดียวกัน ก็มีกล่าวถึงเพียง ๑๔ ตุลา หรือเมื่อพูดถึง (ใน "โต้ลัทธิแก้ไทย") ว่า "ปัญญาชนชนชั้นศักดินา, กระฏุมพี กระทั่งชนชั้นนายทุนน้อย แต่ไหนแต่ไรมาก็ได้พยายามจะหาทางออกให้แก่ประเทศชาติ…ได้พยายามและเสียสละเป็นอย่างมากที่จะเอาอย่างตะวันตก. ในขณะนั้นเขาคิดและทำเช่นนั้นเป็นสิ่งน่าสรรเสริญเพราะเขาต้องการประชาธิปไตยแบบตะวันตก, นั่นคือประชาธิปไตยกระฎุมพีซึ่งในยุคแรกมีความก้าวหน้า" ก็ยกตัวอย่างเพียงเทียนวรรณ และ กศร.กุหลาบ (ไม่มีปรีดี ทั้งๆที่คำบรรยายนี้จะใช้กับปรีดีด้วยก็น่าจะได้)
สาม ในจดหมายที่เขียนในปี ๒๕๒๑-๒๕๒๒ ถึงนักเขียนรุ่นหลังผู้หนึ่งที่เข้าป่าหลัง ๖ ตุลา นายผีเล่าถึงกลุ่มของจำกัด พลางกูรและเพื่อนนักเรียนเก่ายุโรปของเขา และพาดพิงถึงปรีดีด้วยภาษาดังนี้
พวกเขามีหัวเป็นประชาธิปไตยกระฎุมพีที่ก้าวหน้า, หรือในยุคเสรีนิยม, คัดค้านระบอบศักดินา ขณะเดียวกันก็คัดค้านระบอบฟาสซิสต์ด้วย. พวกเขาสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ และได้ต้อนรับนายปรีดีตอนถูกเนรเทศเพราะข้อหาคอมมิวนิสต์ด้วยดี ก็คุ้นเคยกันมาตั้งแต่นั้น….
ต่อมาญี่ปุ่นขึ้น, ในวันแรกนั้นเอง กลุ่มนักเรียนนอกนี้ได้ประชุมกัน คิดงานต่อต้านญี่ปุ่นที่บ้านสะพานหัวช้างของคุณจำกัด โดยคุณจำกัดเป็นตัวชักนำ. เนื่องจากเกิดสภาพผันผวนบางอย่างจึงยุติไปชั่วคราว. แต่คุณจำกัดแต่ผู้เดียวได้ติดต่อไปจนกระทั่งไปปรึกษานายปรีดี แล้วรับอาสาออกนอกประเทศ
นี่เป็นครั้งเดียวเท่าที่เรามีหลักฐานตีพิมพ์ที่นายผีเอ่ยชื่อปรีดี น่าสังเกตว่าน้ำเสียงไม่ได้แสดงความเคารพยกย่องเป็นพิเศษ และวิธีเรียก "นายปรีดี" ที่นี่ก็แตกต่างกับ "ดร.ปรีดี" ใน "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว"
ถ้าสมมุติฐานของผมบนพื้นฐานของหลักฐานแวดล้อมเหล่านี้ถูกต้อง คือนายผีหลังจากเข้าพรรคแล้วก็เปลี่ยนไปมีทัศนะทางลบต่อปรีดีและ ๒๔๗๕ ซึ่งเช่นเดียวกับนักเขียนของพรรคคนอื่นๆ แสดงออกด้วยการเฉยเมย (ignore) ไม่พูดถึงเลยเป็นส่วนใหญ่, ความเรียง "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" ก็สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในน้ำเสียงและท่าทีที่สำคัญมาก. ๒๔๗๕ แม้จะยังถูกมองว่าล้มเหลวในการปลดปล่อยชาวนา สร้างระบอบทุนนิยมและประชาธิปไตยกระฎุมพี แต่ก็เป็นความล้มเหลวที่เกิดจากความตั้งใจดีของคณะราษฎร ("พวกเขาคิดซื่อๆ"). สำหรับปรีดี แน่นอนว่าความเรียงนี้ก่อนอื่นคือคำสดุดี (tribute) นอกจากการเอ่ยถึงอย่างให้เกียรติโดยตลอด ("ดร.ปรีดี") ดังกล่าว, และหากไม่นับการจัดปรีดีอยู่ในปริบทของความล้มเหลวของกระฎุมพีไทยแล้ว, "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" ยังน่าสังเกตตรงที่ปราศจากน้ำเสียงเชิงวิจารณ์ต่อตัว "ผู้ประศาสน์การ" โดยสิ้นเชิง:
มธก.ได้ทำเรื่องที่คนไทยไม่เคยทำมาก่อนทั้งสิ้น. มีแต่ผู้ประศาสน์การผู้เดียวที่รู้, ที่ทราบ…. ผู้ประศาสน์การไม่ได้เป็นผู้จัดตั้งการเคลื่อนไหวที่ก้าวหน้าในมธก., ไม่ควรเอาชื่อผู้ประศาสน์การไปพัวพัน. แต่การกระทำของผู้ประศาสน์การที่ได้สร้างสถานฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานแบบใหม่ของพวกกระฎุมพีนี้ในตัวของมันเองได้กลายเป็นการจัดตั้งพลังที่ก้าวหน้าของสังคมไทย….
บัดนี้ไม่มีผู้ประศาสน์การแล้ว, แต่ทว่าวิญญาณประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าของผู้ประศาสน์การจะยังคงดำรงอยู่สืบไป.
ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว!
หากเปรียบเทียบกับเอกสารสำคัญของพรรคฉบับหนึ่งที่ออกมาในช่วงเวลาใกล้กันคือ งานวิเคราะห์สังคมไทยที่เตรียมสำหรับการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ ๔ ในต้นปี ๒๕๒๕ และต่อมาถูกตีพิมพ์ในชื่อ เส้นทางสังคมไทย (สำนักพิมพ์มิ่งมิตร, ๒๕๒๖) ในหัวข้อ "บทประเมินกรณี ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕" สรุปอย่างแข็งกร้าวว่า "กรณี ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น 'การปฏิวัติชนชั้นนายทุน' ไม่ว่าจะมีสร้อยต่อว่า 'ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ' หรือ 'ที่ไม่ถึงที่สุด' ด้วยหรือไม่ก็ตาม" ก็จะเห็นความเป็นมิตรในน้ำเสียงของนายผีได้ชัดขึ้น แม้กรอบทางทฤษฎีและข้อสรุปในการวิเคราะห์สังคมไทยจะไม่ต่างกันโดยพื้นฐาน (ในอีกด้านหนึ่ง ควรตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม้แต่เส้นทางสังคมไทยเอง, ซึ่งเขียนโดยอดีตนักศึกษาแต่ออกในนามศูนย์กลางพรรค, ก็ยังแสดงความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เห็น. ไม่เฉพาะการเรียกปรีดีว่า "ดร.ปรีดี" โดยตลอดเช่นกันเท่านั้น, การหยิบเอา ๒๔๗๕ ขึ้นมาอภิปรายเป็นบทหนึ่งต่างหาก, ในเอกสารสำหรับสมัชชาพรรค, นับเป็นการให้ความสำคัญกับ ๒๔๗๕ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่สมัย ไทยกึ่งเมืองขึ้น เป็นต้นมา)
ลำพังโอกาสการถึงแก่กรรมของปรีดีโดยตัวเองคงไม่สามารถอธิบายความเปลี่ยนแปลงในท่าทีของนายผีได้ ดังที่ชี้ให้เห็นก่อนหน้านี้ว่า นายผีเขียน "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" ท่ามกลางการพังทลายของพคท. แม้แต่ผู้ที่ยังยืนยัน orthodoxy ของพรรคอย่าง "อหังการ" แบบเขา ก็ยากจะไม่เสียความ "อหังการ" ในการมองประวัติศาสตร์ไปบ้างโดยไม่รู้ตัวได้ ความสำคัญของ ๒๔๗๕ และของปรีดีเพิ่มขึ้นในใจของฝ่ายซ้ายเป็นสัดส่วนกับการอ่อนกำลังลงของพรรค
เมื่อยุค ศรีอาริยะ (เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ) และคณะเปิดฉากโจมตีพรรคในกลางปี ๒๕๒๒ การถกเถียงในระยะแรกจำกัดอยู่ที่ปัจจุบัน ว่าสังคมไทยเป็นสังคมแบบไหน การเสนอให้วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ใหม่ของธีรยุทธ บุญมี ในปลายปี ๒๕๒๓ (จากจุดยืนที่ยังอยู่กับพรรค) ก็เพียงจำกัดอยู่ที่เสนอว่าทุนนิยมได้เข้าแทนที่กึ่งศักดินาแล้วหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง (ธีรยุทธ บุญมี "ปฏิวัติยุคใหม่" ลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน มาตุภูมิ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๔ และรวมพิมพ์อยู่ใน ปฏิวัติสองแนวทางสำนักพิมพ์อาทิตย์, ๒๕๒๔) ที่มีความสำคัญขั้นชี้ขาดต่อการประเมิน ๒๔๗๕ ใหม่ คือบทความขนาดยาวเรื่อง "ปัญหาการศึกษาวิถีการผลิตของไทยอันเนื่องมาจากทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา" ของ "ทรงชัย ณ ยะลา" หรือประทีป นครชัย อดีตนักกิจกรรมจุฬาสมัยก่อน ๑๔ ตุลา และบรรณาธิการวารสารสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่ง-เศสช่วงหลัง ๑๔ ตุลา (ผู้ถึงแก่กรรมอย่างกระทันหันและน่าเสียดายยิ่งเมื่อสองปีก่อน) ที่เผยแพร่ในรูปเอกสารโรเนียวในหมู่ฝ่ายซ้ายเมื่อปลายปี ๒๕๒๓ ต่อต้นปี ๒๕๒๔ (พิมพ์ครั้งแรกใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง มีนาคม-เมษายน ๒๕๒๔ และดู ปาจารยสาร ฉบับประเมิน ๒๔๗๕ ใหม่, มิถุนายน-กรกฎาคม ๒๕๒๔ ที่เป็นผลจากงานของประทีปโดยตรง) ข้อเสนออันมีพลังของประทีป, ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานการ "วิวาทะ" ทางทฤษฎีของชาวมาร์กซิสต์ตะวันตก, ที่ว่า ๒๔๗๕ เป็นการทำลายวิถีการผลิตแบบศักดินาของไทยลงไป, บังคับให้เกิดการทบทวนการตีความ ๒๔๗๕ และปรีดีใหม่ แม้แต่งานศึกษา ๒๔๗๕ ของนักวิชาการร่วมสมัยอย่างนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ก็มีจุดเริ่มต้นปฏิสนธิ (conception) ย้อนกลับไปที่งานของประทีป (ทุกวันนี้น้อยคนจะรู้ว่าคำ "วิวาทะ" ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันมาจากประทีปในบทความนี้เอง: "คำว่า "วิวาทะ" ผู้เขียนแปลมาจากคำว่า polemics ในภาษาอังกฤษ หรือpolémiques ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งไม่ได้แปลว่าทะเลาะกัน แต่หมายถึงการแสดงความเห็นต่างกัน", เชิงอรรถที่ ๑๗ ของบทความ)
แน่นอนว่า ถึงที่สุดแล้ว น้ำเสียงที่เป็นมิตรยิ่งขึ้นต่อ ๒๔๗๕ และต่อปรีดีของนายผี ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบทางทฤษฎีแบบพคท.ที่ปฏิเสธความสำเร็จในระดับของการปฏิวัติที่แท้จริงแก่ปรีดี นายผีเสียชีวิตหลังเขียน "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" เพียง ๔ ปี เขาอาจจะพอได้รู้ข่าวการเปิดอนุสาวรีย์ปรีดีที่ธรรมศาสตร์ในปีต่อมาหลังจากเขาเขียนความเรียงนี้. แต่เขาไม่มีโอกาสได้รู้ว่าภายในไม่กี่ปีหลังจากนั้น, การเคลื่อนไหวสาธารณะเพื่อฟื้นเกียรติภูมิของปรีดีที่เริ่มในปีเดียวกับที่เขาเขียน "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" ก่อนปรีดีถึงแก่กรรมไม่กี่เดือน (การแปรอักษรในฟุตบอลประเพณี "พ่อของข้าฯนามระบือชื่อปรีดี" ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๖), ซึ่งอย่างไม่บังเอิญ เป็นปีแรกหลังจากพรรคที่เขาสังกัดได้แตกเป็นเสี่ยงๆ, การเคลื่อนไหวนี้จะขยายตัวเป็น "อุตสาหกรรม" ไป. สิบปีเศษหลังจาก "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" รัฐเองจะประกาศเชิดชูปรีดีเป็นบุคคลสำคัญระดับโลก มีการฉลองอย่างเป็นทางการด้วยรูปแบบต่างๆทุกรูปแบบ ตั้งแต่นิทรรศการ, ละครเวที, การแสดงดนตรี, หนังสือทุกประเภท (จากงานวิชาการถึงนิทานสำหรับเด็ก), ชื่อถนน, ชื่อห้องสมุด, แสตมป์, ไปจนถึงของชำร่วยที่ระลึกสารพัดชนิด.
ปัญหาทางเทคนิคในการเตรียมต้นฉบับ
ในการเตรียมต้นฉบับ "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" สำหรับตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งนี้ ผมพยายามตามแบบต้นฉบับพิมพ์ดีดที่มีลายมือตรวจแก้ของนายผีอย่างเคร่งคัด (เช่น คำว่า "ศาสตร" สะกดโดยไม่มีเครื่องหมายการันต์โดยตลอด, การใช้ตัวเลขอารบิค) เพราะเห็นว่านายผีเป็นคนเข้มงวดมากเรื่องวิธีการเขียน และมีเหตุผลของเขาเองในการเลือกเขียนแบบใดแบบหนึ่ง แม้แต่กับเรื่องที่ดู "เล็กๆ" (เช่นการเลือกที่จะเขียนชื่อเดือนเต็มๆทุกครั้ง)[د] แต่ผมตัดสินใจไม่ทำตามใน ๒ กรณี เพราะเห็นว่าจะเป็นการลำบากต่อสายตาของผู้อ่านมากเกินไป กรณีแรก ต้นฉบับพิมพ์ดีดของนายผี ไม่มีช่องว่าง (space) ระหว่างประโยคและภายในประโยคเลย แม้แต่หลังเครื่องหมายจุลภาคและจุดจบประโยค ก็พิมพ์ข้อความต่อไปติดกันทันที ระหว่างข้อความธรรมดากับข้อความในครื่องหมายคำพูด ส่วนใหญ่ก็ไม่มีช่องว่างเลย (บางครั้งที่มี ผมสงสัยว่าเป็นความเผลอ) กรณีที่สอง เมื่อขึ้นย่อหน้าใหม่ ในต้นฉบับไม่มีการถอยร่นเข้าไปจากขอบ (indent) ทั้ง ๒ กรณี ผมได้เพิ่มช่องว่าง (space) และการถอยร่น (indent) เข้าไป (ยกเว้นย่อหน้าแรกสุด) ส่วนการเน้นคำด้วยการขีดเส้นใต้นั้น ผมก็ทำตามนายผี ไม่ใช้การทำตัวเอียงหรือตัวหนา ซึ่งต้นฉบับพิมพ์ดีดทำไม่ได้
ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว
ไม่กี่วันมานี้ได้มีประกาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยว่าให้ชาวธรรมศาสตรไปร่วมกันเททองหล่อรูปเคารพของดร.ปรีดี พนมยงค์, ผู้ประศาสน์การ, ที่มหาวิทยาลัยเพื่อเอาประดิษฐานไว้เป็นที่ระลึก ณ มหาวิทยาลัยแห่งนั้น. หลังจากนั้นไม่ทันไร, วิทยุแห่งเดียวกันนั้นก็กลับออกข่าวใหม่ว่าจะมีการเททองหล่อพระพุทธรูปสี่องค์แยกไปประดิษฐานไว้ที่มหาวิทยาลัย, ที่สโมสรธรรมศาสตร, และที่วิทยาเขตอีกสองแห่ง; ในการนี้กษัตริย์จะมาเองด้วย. เรื่องหล่อรูปดร.ปรีดีเงียบไป.
ดร.ปรีดีเป็น "ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตรและการเมือง" ซึ่งดร.ปรีดีเป็นผู้ตั้งขึ้นเองหลังจากเปลี่ยนการปกครองแผ่นดิน, ควบคู่ไปกับการตั้งธนาคารชาติ. ต่อมามหาวิทยาลัยนี้ถูกพวกทหารฟาสซิสต์ยึดไป, ขับไล่ดร.ปรีดีไปนอกประเทศหลายครั้งจนในที่สุดก็ไปตายที่ประเทศฝรั่งเศส. ตั้งแต่นั้นมาตำแหน่งผู้ประศาสน์การก็เป็นอันยกเลิกมีตำแหน่งอธิการบดีขึ้นมาทำหน้าที่แทน. และนับแต่นั้นมาก็ไม่มีผู้ประศาสน์การอีกแล้ว.
คำว่า "อธิการบดี" มีสำเนียงไปทางพระ, ไม่เหมาะกับชื่อผู้ปกครองและชี้นำมหาวิทยาลัยของฆราวาส. ที่ว่ามีสำเนียงไปทางพระก็เพราะมีตำแหน่งในการปกครองวัดตำแหน่งหนึ่งเรียกว่า "เจ้าอธิการ"; พระทำผิดวินัยก็เรียกว่ามีอธิกรณ์. หากเรียกว่าอธิการบดีก็อาจโน้มนำไปทางสมภารเจ้าวัดได้. ชื่อมหาวิทยาลัยมีคำว่าธรรมศาสตรก็อาจมีผู้คิดว่าคงจะเกี่ยวกับศาสนาอยู่แล้ว. แท้จริงคำ "ธรรมศาสตร" หมายถึงกฎหมายบ้านเมือง, หาได้หมายถึงเรื่องทางศาสนาไม่. มีคำว่า "คัมภีร์มานวธรรมศาสตร" เรียกคัมภีร์หรือบัญญัติกฎหมายโบราณเป็นที่รู้กันทั่วไปดี. คำว่า "มนู" ก็ถูกใช้เรียกเป็นชื่อผู้พิพากษามาแต่เดิมในฐานเป็นราชทินนาม. ในตำราโบราณที่เรารับมาจากอินเดียโบราณกล่าวว่าเจ้ากฎหมายคือพรหมชื่อท้าวมนู; ในตำราไทยโบราณเรียกเจ้ากฎหมายว่าพระมโนสาราจารย์, และได้ทำเป็นรูปของมโนสาราจารย์นั่งแท่นชูตาชั่งอยู่. ชื่อหรือราชทินนามของดร.ปรีดี พนมยงค์ก็มีคำว่า "มนู" อยู่ในนั้น, คือหลวงประดิษฐมนูธรรม. คำว่า "มนูธรรม" ก็คือกฎหมายของท้าวมนูมหาพรหมตามความเชื่อแต่ก่อน. คำว่า "ธรรมศาสตร" ที่เป็นชื่อของมหาวิทยาลัยนั้นตรงกับคำว่า moral sciences. และดังนั้นตราของมหาวิทยาลัยจึงทำเป็นรูปพระธรรมจักรมีรัฐธรรมนูญตรงกลาง, หมายถึงกฎหมายต้องเที่ยงธรรมและยึดถือหลักรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยด้วย. รัฐธรรมนูญในที่นี้หมายถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามที่เป็นหลักประชาธิปไตย, มิใช่รัฐธรรมนูญที่มีหลักการอย่างอื่น. และ "ประชาธิปไตย" ที่ว่านั้นก็ถือว่าต้องเป็นประชาธิปไตยตามแบบอย่างที่คณะราษฎรนำมาประดิษฐานไว้เป็นหลักการปกครองใหม่ของประเทศไทย; รูปธรรมก็คือหลักการแห่งรัฐธรรมนูญฉะบับแรกหรือฉะบับที่หนึ่ง. การแก้ไขรัฐธรรมนูญในระยะต่อมาจะมากน้อยสักเท่าไรก็ตาม, หากไม่ยึดถือหลักรัฐธรรมนูญฉะบับที่หนึ่งแล้วก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นประชาธิปไตยตามที่คณะราษฎรนำมา. ส่วนใครจะว่าฉะบับไหนเป็นประชาธิปไตยจริงจังหรือไม่นั้นก็ตามแต่อัธยาศัยของผู้กล่าวนั้นเองเป็นส่วนตัว. ประชาธิปไตยที่คณะราษฎรนำมาและจารึกรับรองลงในรัฐธรรมนูญฉะบับแรกอย่างชัดแจ้งนั้นเป็นประชาธิปไตยกระฎุมพี, ประชาธิปไตยของชนชั้นกระฎุมพีหรือบูรีชน,หรือที่มีเรียกกันว่าชนชั้นนายทุนไทยผู้ทำการโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วเปลี่ยนเป็นระบอบราชาธิปไตยอำนาจจำกัด. แม้นคำว่า "ประชาธิปไตย" จะเคยมีใช้ตั้งแต่ครั้งสมัยระบอบทาสของโรมัน, ทว่าคำ "ประชาธิปไตย" ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทั้งหมดก็เป็นเพียงคำที่พวกกระฎุมพีซึ่งโค่นอำนาจปกครองของพวกเจ้าศักดินาลงนำมาใช้เรียกระบอบของตนเท่านั้น, จึงมีความหมายตามที่ว่านี้หาได้มีความหมายเหมือนอย่างในสมัยทาสไม่. หัวใจสำคัญของระบอบแห่งชนชั้นกระฎุมพีก็คือ กรรมสิทธิ์เอกชนในปัจจัยการผลิต, และดังนั้นระบอบประชาธิปไตยของพวกเขาจึงเป็นระบอบที่ดำเนินกรรมสิทธิ์เอกชนในปัจจัยการผลิต. การที่พวกชนชั้นกระฎุมพีหรือชนชั้นนายทุนทำเช่นนี้ก็เพื่อสถาปนาและพัฒนาการผลิตทุนนิยมของพวกเขาและรักษาผลประโยชน์เอกชนของพวกเขาซึ่งเนื้อแท้ที่สำคัญก็คือการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากชนชั้นกรรมกรนั่นเอง. ด้วยเหตุนี้กฎหมายของพวกชนชั้นกระฎุมพีหรือชนชั้นนายทุนก็เป็นกฎหมายที่คุ้มครองกรรมสิทธิ์เอกชนในปัจจัยการผลิตของพวกเขา. กฎหมายหลักที่เป็นแบบอย่างของเรื่องนี้ก็คือกฎหมายนโปเลียน, ประมวลกฎหมายนโปเลียนหรือ "โค้ดนโปเลียน" นั่นเอง. กฎหมายของพวกกระฎุมพีในโลกนี้ทั้งหมดไม่ว่าจะเขียนพลิกแพลงอย่างไรก็ไม่พ้นไปจากหลักของกฎหมายนโปเลียนนี้ได้. กฎหมายนี้ได้คุ้มครองสิ่งที่เรียกว่า "กระฎุมพีสิทธิ์" อย่างมั่นคง. ในระบอบสังคมนิยมซึ่งเป็นระยะผ่านทางประวัติศาสตรอันยาวนานทั้งระยะก่อนข้ามไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์นั้นก็เป็นระยะแห่งกระฎุมพีสิทธิ์, หรือระยะสิทธิ์แห่งพวกกระฎุมพีที่ไม่มีพวกกระฎุมพีนั่นเอง. ผู้ใดไม่เข้าใจเรื่องนี้และด่วนทำลายกระฎุมพีสิทธิ์เร็วเกินกว่าความเป็นจริงก็ย่อมจะกระทำความผิดเอียง "ซ้าย".
ด้วยเหตุนี้ที่เรียกว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยนั้นเนื้อแท้แล้วก็เป็นการปฏิวัติกระฎุมพี (ที่เคยเรียกว่าการปฏิวัติชนชั้นนายทุน) เพื่อสถาปนาระบอบขูดรีดของชนชั้นกระฎุมพีขึ้นทั่วทั้งสังคม. การปฏิวัติกระฎุมพีที่สำคัญคือการปลดปล่อยพลังผลิตเกษตร, คือทาสกสิกรและชาวนาเอกเทศทั่วไป; เหตุนี้จึงได้รับการสนับสนุนจากเลกและไพร่, จากชาวนาและพวกอนุกระฎุมพีทั้งหมด. นั่นก็คือพวกกระฎุมพีเป็นเจ้าการ, เป็นเจ้ากี้เจ้าการของการปฏิวัติประชาธิปไตย, เป็นผู้นำการปฏิวัติประชาธิปไตย, เป็นผู้นำชาวนาโดยส่วนรวม. เมื่อพวกกระฎุมพีจะสถาปนาระบอบขูดรีดทุนนิยมก่อนอื่นเขาก็จะต้องปลดปล่อยพลังผลิตในสังคมที่เป็นชาวนา, ให้
ชาวนาเป็นอิสระไม่ถูกผูกมัดอยู่กับที่ดินตามระบอบศักดินา, ให้ชาวนาได้เป็นอิสระ, เลิกล้มระบอบทาสกสิกรและทำลายเศษเดนของศักดินานิยมให้หมดสิ้นไป. ทั้งนี้ก็เพื่อชาวนาที่เป็นอิสระแล้วจะได้สามารถขายพลังแรงงานของตนให้แก่ชนชั้นกระฎุมพีหรือชนชั้นนายทุนในโรงงาน, การผลิตทุนนิยมถึงจะสามารถดำเนินไปได้. ในสมัย ร.5, ทาสกสิกรทั้งหมดอยู่ใต้อาณัติของเจ้าที่ดินศักดินา, ไม่เป็นอิสระ, ไม่สามารถขายพลังแรงงานของตนให้แก่พวกกระฎุมพี, โดยฉะเพาะพวกทุนผูกขาดสากลคือพวกจักรพรรดินิยมที่รุกเข้ามาในเมืองไทยขณะนั้น. เหตุนี้พวกจักรพรรดินิยมจึงได้ยุยงส่งเสริมและสนับสนุนให้ ร.5 ดำเนินการปฏิรูปสังคม, ปลดปล่อยทาสกสิกรให้พ้นอำนาจของพวกเจ้าที่ดินศักดินาซึ่งในเวลานั้นตัวใหญ่ที่สุดคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริย-วงศ์, ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน. การต่อสู้ระหว่าง ร.5 กับสมเด็จเจ้าพระยาฯเป็นไปอย่างดุเดือด. แต่เนื่องจากจักรพรรดินิยมหนุนหลังและ ร.5 มีกำลังของพวกเจ้าศักดินาหัวใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนระบอบขูดรีดทางที่ดินของตนส่วนหนึ่ง (เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น) ไปเป็นการขูดรีดทางทุนนิยมช่วยเหลือ กับมีการต่อสู้ของมวลชน
ชาวนาและพวกไพร่ทาสเป็นกำลังผลักดันช่วยที่สำคัญ, ฉะนั้นการปฏิรูปของ ร.5 จึงได้บรรลุผลโดยพื้นฐาน. การต่อต้านอย่างทรหดของพวกเจ้าศักดินาหัวดื้อในสมัยนั้นทำให้การปฏิรูปของ ร.5 ต้องยืดเยื้อยาวนานไป. อย่างไรก็ดี, การปฏิรูปครั้งนั้นก็เป็นแต่เพียงครึ่งๆกลางๆ. ระบอบศักดินาถูกทำลายไปทีละก้าวทีละน้อยก็จริง, ทว่าการขูดรีดชาวนาในที่ดินอันเป็นระบอบขูดรีดศักดินานิยมนั้นยังดำรงอยู่บริบูรณ์. พวกกระฎุมพีสามารถก่อกำเนิดและเติบโตขึ้นไประดับหนึ่งก็จริง, ทว่าไม่สามารถดำเนินก้าวหน้าต่อไปโดยอิสระ. ทั้งนี้เพราะอุปสรรคที่เกิดจากการสมคบกันระหว่างจักรพรรดินิยมนักล่าเมืองขึ้นกับเจ้าศักดินาไทยที่ยังมีอำนาจเหลืออยู่อย่างมากมายไม่ได้มิได้ถูกทำลายไป, เพราะไม่มีการปฏิวัติกระฎุมพี. ดังนั้นจักรพรรดินิยมจึงได้กลายเป็นกำลังที่ค้ำจุนให้การขูดรีดศักดินานิยมยังมีอยู่ต่อไปอีกอย่างมั่นคงและศักดินานิยมก็ได้กลายเป็นรากฐานการขูดรีดและปล้นสะดมประเทศไทยของจักรพรรดินิยม, เป็นผู้ช่วยให้จักรพรรดินิยมสามารถดำเนินการปล้นสะดมประเทศไทยและขูดรีดประชาชนไทยได้อย่างเสรี. เหตุนี้เองจึงทำให้ประเทศไทยสามารถดำรงรักษา "ความเป็นเอกราช" ของตนไว้ได้ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นโดยตรงของจักรพรรดินิยมเหมือนประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ. แต่ "เอกราช" หลอกๆที่ว่านี้เป็นแต่เพียง "เอกราชทางรูปแบบ" เล็กๆน้อยๆ, เนื้อแท้แล้วจักรพรรดินิยมได้อาศัยการยินยอมของศักดินานิยมเข้าปกครองประเทศไทยทางอ้อม. สภาพเช่นนี้คือสภาพที่เลนินเรียกว่าสภาพของประเทศกึ่งเมืองขึ้น. สิ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คือสภาพนอกอาณาเขตมิได้ถูกยกเลิกไป, สัญญาไม่เสมอภาคกับจักรพรรดินิยมยังมีอยู่อย่างครบถ้วน. การเข้าร่วมในมหายุทธสงครามจักรพรรดินิยมครั้งที่หนึ่งของ ร.6 ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ให้ตกไปได้. และสิ่งเหล่านี้เองที่คณะราษฎรถือเป็นข้ออ้างสำคัญในการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเมื่อปี '75[ذ] ซึ่งสี่ทหารเสือเป็นหัวหน้าและมีดร.ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้ดลใจและจัดตั้ง. หลังปี '75 คณะราษฎร, โดยดร.ปรีดี, ได้พยายามเลิกสัญญาไม่เสมอภาคนั้น "สำเร็จ", เลิกสภาพนอกอาณาเขต "โดยสิ้นเชิง"[ر]; ทว่าก็ยังไม่สามารถเลิกระบอบขูดรีดศักดินานิยม, ชาวนายังไม่มีที่ดินทำกินของตนเองโดยครบถ้วน, รูปแบบการขูดรีดชาวนาในเงื่อนไขใหม่ได้เกิดขึ้นต่างๆนานา. พวกกระฎุมพีเองก็ยังไม่สามารถพัฒนาทุนนิยมของตนให้ใหญ่โตเพราะจักรพรรดินิยมยังขัดขวางอยู่และพวกศักดินาที่ตนเองไปประนีประนอมด้วยนั้นก็ยังอยู่, ยังรักษาระบอบขูดรีดของเขาไว้อยู่. ในยี่สิบปีหลังนี้, หลังจากที่ได้เปิดให้ทุนต่างประเทศเข้ามาดำเนินการขูดรีดเต็มที่ได้, ทุนนิยมได้เฟื่องขึ้นในระดับที่แน่นอน. แต่นี่เป็นเพียงรูปภายนอกและปรากฏการณ์ที่ฉาบฉวยดุจดอกมะเดื่อ; โดยความเป็นจริงแล้ว, ด้านหนึ่งทรัพยากรทุกชะนิดในประเทศได้ถูกจักรพรรดินิยมและทุนผูกขาดต่างประเทศปล้นสะดมไป "อย่างหวานหมู" จนจะเหือดแห้งอยู่แล้ว,กระทั่งแรงงานก็ถูกส่งออกไปขายยังต่างประเทศด้วยราคาถูกน่าใจหาย; อีกด้านหนึ่งความเฟื่องดังกล่าวนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหนี้ขี้ข้าต่างประเทศ, คือพวกจักรพรรดินิยม, อย่างท่วมท้นล้นหลาย. เมื่อใดเจ้าหนี้ทวงถามเมื่อนั้นไทยก็จะไม่มีความสามารถชำระหนี้ได้, ก็จะต้องล้มละลาย. พวกผู้จัดการบริษัทคือพวกปกครองปฏิกิริยาที่ขูดรีดทั้งหลายก็จะหนีไปหมดเหมือนพวกเท้าแชร์. เวลานี้เขาก็ได้โอนทรัพย์สินหนีไปซ่อนไว้ต่างประเทศทุกวัน. เรื่องนี้เป็นความลับที่เปิดเผยทั่วไป. วิทยุรัฐบาลได้ออกข่าวเรื่องนี้เรื่อยๆ. การลงทุนต่างประเทศล้วนแต่เป็นทุนฉาบฉวยที่ทำกำไรมหึมาให้ได้ในระยะสั้นที่สุด. พวกเขาลงทุนอย่างเสี่ยงภัยทั้งสิ้น.
เมื่อคณะราษฎรทำรัฐประหารเปลี่ยนการปกครองนั้นพวกเขาไม่ได้คาดคิดถึงสภาพอย่างในปัจจุบันนี้. พวกเขาคิดซื่อๆว่าจะสร้างระบอบทุนนิยมและจะทำให้ประเทศไทยเป็นอิสระและเฟื่องฟู. พวกเขาคิดว่าระบอบใหม่ในประเทศไทยที่พวกเขานำมาให้นี้จะมั่นคงถาวร. ดังนั้นโครงการของพวกเขาก็เป็นโครงการที่หนักแน่นอยู่. พวกเรามักพูดกันถึงโครงการสมุดปกเหลืองของหลวงประดิษฐมนูธรรม, แต่เราไม่เคยพูดถึงการพยายามตั้งโครงการถาวรที่จะทำให้ระบอบทุนนิยมสถิตเสถียรในประเทศไทย. เค้าโครงการเศรษฐกิจของคณะราษฎรเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งของความพยายามเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นรากฐานของสังคม. แต่โครงการอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมากก็คือการสร้างโครงสร้างชั้นบนของสังคมใหม่ให้เป็นโครงสร้างชั้นบนของสังคมทุนนิยมของพวกกระฎุมพี. เพื่อการนี้, ดร.ปรีดีได้ดำเนินการสร้างหลายอย่าง; ที่สำคัญก็คือการตั้งธนาคารชาติและมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. แท้จริง, การตั้งมหาวิทยาลัยนั้นก็คือการเพาะผู้ปฏิบัติงานใหม่ให้แก่ระบอบของพวกกระฎุมพีนั่นเอง, คือการเพาะผู้ปฏิบัติงานกระฎุมพีขึ้นจำนวนหนึ่งในระบบของตนเอง. พวกขุนนางเก่าฝังหัวในระบอบเก่า, แก้ยาก. พวกนักเรียนเก่าก็ถูกอบรมมาอย่างเก่า, เปลี่ยนยาก. เพราะฉะนั้นดร.ปรีดีจึงได้สร้างระบบใหม่ทางการศึกษานี้ขึ้นโดยสิ้นเชิง. วิชาที่สอนก็เป็นวิชาอย่างใหม่, กฎหมายที่สอนก็เป็นกฎหมายกระฎุมพีที่เดินตามรอยครรลองของโค้ดนโปเลียนหมดจด, ทฤษฎีการเมืองก็เป็นทฤษฎีใหม่ของพวกกระฎุมพีสากลมิใช่เป็นทฤษฎีศักดินาแบบเก่า. ผู้เข้าเรียนก็เป็นคนใหม่หมด, ส่วนใหญ่หรือโดยพื้นฐานเป็นคนในชนชั้นกระฎุมพีหรือกระทั่งพวกคนยากจน. เหตุนี้ค่าเล่าเรียนจึงถูกที่สุด, การรับนักศึกษาก็กว้างขวางโดยรับทั่วไปไม่จำกัดวิทยฐานะดังมหาวิทยาลัยอื่น, การสอนก็ใช้ระบบใหม่สิ้นเชิงรวมทั้งการสอบด้วย, โดยสอบเก็บเป็นรายวิชาได้. ระบบคะแนนก็ใช้ระบบห้าคะแนนและมีสอบสัมภาษณ์แบบเซ็มมินาร์เพื่อเลือกเฟ้นบุคคลที่มีทรรศนะแบบใหม่ทั้งหมด. คำว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก) เป็นตลาดวิชานั้นดังมากในสมัยนั้น. ดร.ปรีดียังจัดตั้งนิคมมธก.ขึ้นรับนักศึกษาที่ประสงค์จะมาอยู่กินด้วยกันแบบโรงเรียนกินนอนอีกมีจำนวน 100 คนอยู่ในสองตึกใหญ่แยกอยู่ด้านท่าพระจันทร์กับด้านท่าช้างตึกละ 50 คน. ผู้ปกครองนิคมเป็นศาสตราจารย์ชาวอังกฤษชื่อดร.เจ เอฟ ฮัตเจสสันซึ่งได้มากินนอนร่วมกับนักศึกษาอย่างสนิทสนม. กำลังใหม่เพื่อระบอบทุนนิยมกระฎุมพีได้รับการทำนุบำรุงเป็นอย่างดียิ่ง.
ชื่อของมหาวิทยาลัยที่เติมคำว่า "การเมือง" เข้าไปข้างท้ายนั้นเป็นเรื่องอึกทึกมาก, ทำให้คนทั้งหลายหันมาสนใจการเมืองกันอย่างจริงจังว่าคืออะไรกันแน่. แต่คนพวกหนึ่งก็กลัวเพราะรู้ว่า "การเมือง" นั้นคือการเมืองกระฎุมพีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพวกเขา; ในที่สุดพวกเขาก็หาเรื่องทำลายเสียโดยตัดคำนี้ออกจากชื่อของมหาวิทยาลัย, คล้ายกับว่าเมื่อได้ตัดชื่อที่ว่า "การเมือง" นี้ออกเสียแล้วก็จะไม่มีการเมืองของพวกกระฎุมพีในเมืองไทยอีก. เราท่านเห็นถนัดแล้วว่าเวลานี้การเมืองกระฎุมพีเฟื่องเพียงไรในเมืองเราโดยไม่ต้องมีคำนี้ห้อยท้ายชื่อมหาวิทยาลัย.
ดร.ปรีดีได้ตั้งใจอบรมสั่งสอนวิชาการเมืองแก่นักศึกษาของมธก.เต็มที่จนบัดนี้ได้กลายเป็นพื้นฐานของระบอบการเมืองไทยระดับหนึ่งไปแล้ว.
กีฬาประเพณีที่ดังในชั้นหลังนั้นในตอนแรกยังไม่มีอะไรมากนอกจากการแข่งขันฟุตบอลล์ระหว่างสองมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาสูงสุด. เวลานั้นยังไม่มีมหาวิทยาลัยอื่นเกิดขึ้น. สนามที่ใช้ก็เป็นสนามที่ดีที่สุดในสมัยนั้นนั้นคือสนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, ต่อมาย้ายไปที่สนามกีฬาแห่งชาติ. เมื่อเล่นกันครั้งแรก, จุฬาฯเขามีสีของเขาคือสีชมพู; แต่มธก.ยังไม่มีสี. ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยุ่งยาก. ชาวนิคมที่เข้าร่วมเป็นกำลังสำคัญในกีฬานั้นจึงได้เสนอง่ายๆให้ใช้สีเหลือง-แดงเป็นสีของมหาวิทยาลัยและได้แต่งเพลงประจำมหาวิทยาลัยขึ้น. เพลงนั้นมีคำหนึ่งว่า "เหลืองของเราคือธรรมประจำจิต, แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้". ผู้แต่งเป็นกวีและปัญญาชนชั้นสูงมีชื่อของเมืองไทยขณะนั้น,คือขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ผู้แต่งเพลงชาติชื่อดัง. เพลงของเขามีพลังและมีความหมายเด่นชัดมาก. น่าเสียดายที่ต่อมาเขาได้กลายเป็นนักคัดค้านประชาชน,คัดค้านการปฏิวัติของประชาชนไปพร้อมๆกับสหายคู่หูของเขาอีกผู้หนึ่งซึ่งก็ชื่อดังเหมือนกัน, ทำงานอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์เหมือนกัน. ต่อมาการกีฬาระหว่างสองมหาวิทยาลัยได้เพิ่มกีฬารักบี้ฟุตบอลล์ขึ้นอีกอย่างหนึ่งซึ่งจุฬาฯมีเปรียบมาก. ผู้อบรมฝึกหัดทางจุฬาฯก็คือมจ.จันทรา, ส่วนทางมธก.นั้นผู้ฝึกฟุตบอลล์คือขุนประเสริฐศุภมาตราและต่อมาคือนายโฉลกโกมารกุล ณ อยุธยา. กีฬารักบี้นั้นนายโฉลกเป็นผู้ฝึกแต่ผู้เดียว. ถัดจากนั้นมธก.ได้เสนอแข่งเรือกรรเชียงโดยนายโฉลกเป็นผู้ฝึกอีก, แต่จุฬาอ้างว่าไม่มีน้ำจึงไม่เอา. กีฬาแข่งเรือกรรเชียงแบบเฮนเลย์ รีแกตต้าที่แม่น้ำเทมส์ระหว่างอ็อกฟอร์ดกับเคมบริดจ์จึงไม่เกิดขึ้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาตามประสงค์, เป็นที่น่าเสียดายอยู่. แต่พวกเราก็ลงกรรเชียงกันทุกวันตอนเย็น, มีคนทึ่งมาดูกันมาก. ดร.ปรีดีได้สนับสนุนการกีฬาทุกชะนิดดังกล่าวแล้วเต็มที่. เมื่อฟุตบอลล์ชะนะแต่ละครั้งก็จะเดินขบวนกันไปที่บ้านป้อมเพชรแสดงความดีใจ, และนักกีฬาก็จะได้ดื่มแชมเปญอย่างดีที่นั่นด้วย.
หลังจากสอบไล่แล้วก็จะประสาทปริญญา, จะมีการเรียกนักศึกษาที่จะเข้ารับปริญญาบัตรไปอบรมพิเศษโดยให้กินนอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย, จะทบทวนวิชาความรู้ให้แน่น, จะทำความรู้จักรักใคร่และสามัคคีซึ่งกันและกันอย่างสนิทสนมด้วยการกินอยู่อบรมฝึกฝนร่วมกัน. พวกเขาจะช่วยตัวเองทั้งหมด. จะไปจ่ายตลาดเองด้วยรถนักฟุตบอลล์ทุกเช้า, จะทำอาหารเอง, จะกำหนดเมนูเอง, ผลัดเปลี่ยนกันเสิรฟอาหารและเก็บกวาดล้างถ้วยชามเอง, หัดนั่งโต๊ะดินเน่อร์และแกรนด์ ดินเน่อร์ไปพร้อมเผื่อว่าเมื่อออกไปประกอบอาชีพอยู่ในสังคมภายนอกแล้วจะได้สามารถปฏิบัติตนถูกต้องอย่างสะบาย. วันรับปริญญาจะมีแกรนด์ ดินเน่อร์, มีกล่าวอวยพรนักศึกษาที่รับปริญญา, มีการฉลองภายใน. ดร.ปรีดีล้วนแต่มาติดตามดูแลด้วยตนเองอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา. รับปริญญาแล้วก็จะไปพบดร.ปรีดีเป็นการส่วนตัวทีละคนทุกคน, สนทนากันถึงอนาคตของแต่ละคน, ให้ผู้ประศาสน์การได้รับรู้ว่าใครจะไปทำอะไรอยู่ที่ไหน. หลังจากจบการศึกษาออกไปและหลังจากที่นิคมมธก.เลิกไปแล้ว, พวกชาวนิคมร้อยคนนั้นก็จะพบกันเป็นประจำทุกปี, รับรู้ซึ่งกันและกัน, เสนอความเห็นซึ่งกันและกัน, รักษาสายสัมพันธ์นี้ไว้ไม่ให้ขาด. พวกเขาเป็นแกนของนักเรียนเก่ามธก.และได้เป็นผู้ริเริ่มสิ่งที่เรียกว่าการกินเลี้ยงในคณะนักเรียนเก่าประจำปี (หรือบางพวกเรียกว่าการเลี้ยงรุ่น). เวลานั้นเขาจะแต่งเครื่องหมายของ มธก., มีหมวกกระดาษเป็นหมวกหนีบสีเหลืองแดงใส่ทุกคน, มีธงกระดาษเล็กๆสีเหลืองแดงถือมากัน. การกินอาหารเป็นเพียงสิ่งจำเป็นเพราะเป็นเวลาค่ำ, เรื่องหลักคือการพบปะรับรู้ซึ่งกันและกัน, เสนอความเห็นซึ่งกันและกันด้วยความรักใคร่ห่วงใยและพิทักษ์เกียรติกับศักดิ์ศรีของมธก.เรา. พวกเขากระจายกันอยู่ทุกแห่งทั่วประเทศ, ในงานอาชีพทุกชะนิด: บ้างเป็นข้าราชการ, บ้างเป็นพ่อค้า; บ้างเป็นผู้พิพากษา, บ้างเป็นทนายความ; บ้างเป็นนักการเมือง, บ้างเป็นนักปฏิวัติ; บ้างเป็นครูบาอาจารย์และบ้างก็เป็นนักประพันธ์, ฯลฯ. อิงอรเป็นคนหนึ่งในจำนวนนี้, ก่อเกียรติ (เวื่อง) ษัฎเสณ ก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนนี้. พิบูล ภาษีผลเป็นคนหนึ่งในจำนวนนี้และสานน(สีนวล) สายสว่างก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนนี้. บัดนี้ชาวนิคมได้ร่อยหรอไปมากแล้วและได้ขาดการพบปะติดต่อกันไป. แต่ชาวมธก.และวิญญาณของมธก.ยังอยู่. มหาวิทยาลัยสถานที่เพาะผู้ปฏิบัติงานกระฎุมพีนี้ยังอยู่มิได้ล้มไปเพราะการปองร้ายของพวกศัตรูประชาธิปไตย. ประชาธิปไตยกระฎุมพียังไม่อาจมั่นคงเข้มแข็งเพราะชนชั้นกระฎุมพีไทยมีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและการเมืองเป็นอันมาก. แต่พวกเขาก็ได้มีคุณูปการที่สำคัญมากต่อการเมืองเมืองไทย. พวกเขาได้สร้างสะพานเชื่อมให้แก่การปฏิวัติของประชาชนอย่างแท้จริง.ดร.สายหยุด แสงอุทัยไม่รู้ว่าเขาได้สอนนักศึกษาที่ต้องการไปไกลกว่าระบอบของพวกชนชั้นนายทุน. มาโนช วุฑยาทิตย์หัวหน้าห้องสมุดมธก.ก็ไม่รู้ว่าเขาได้ช่วยให้เพื่อนนักศึกษาของเขาได้ไปค้นคว้าหาทางออกที่แท้จริงของการปฏิวัติประเทศไทยที่นั่น. ดร.เดือน บุนนาค, เลขาธิการ, ไม่รู้ว่ามธก.ได้กลายเป็นป้อมประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าและเป็นป้อมเพชรที่แข็งแกร่งที่สุดในการต่อสู้เพื่อเอกราชประชาธิปไตยมาตลอดทุกยุคทุกสมัยของการผันผวนของการเมืองไทยที่ล้มลุกคุกคลานมาเป็นเวลาห้าสิบปีแล้ว. หลวงวิจิตรวาทการไม่รู้ว่าเขาได้ให้มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นมิตรร่วมทางที่ดีและซื่อสัตย์แก่นักประชาธิปไตยในมธก. เจ้าคุณอนุมานราชธนไม่รู้ว่าท่านได้อำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษามธก.ใช้ห้องอ่านหนังสือของหอพระสมุดแห่งชาติเป็นที่ค้นคว้าและทำงานอย่างสงบเพื่อการต่อสู้ปฏิวัติที่อึกทึกครึกโครมและนองเลือดข้างนอก. หลวงพิบูลสงครามไม่รู้ว่าการยึดและทำลายมธก.,เอานักศึกษาไปเรียนร่วมกับนิสิตจุฬาฯนั้นเป็นการยกจุฬาฯให้เป็นสหายศึกของสำนักนักศึกษาท่าพระจันทร์. ประยูร ภมรมนตรี, เจ้ากรมยุวชนทหาร, ไม่รู้ว่าการเข้าไปในมธก.เพื่อยุให้นักศึกษาเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสนั้นแท้จริงเป็นการพิสูจน์การนำของพรรคการเมืองชนชั้นกรรมาชีพแท้ๆ, ทำให้มวลนักศึกษาเดินตามการนำที่ถูกต้องของพรรคแห่งชนชั้นกรรมาชีพซึ่งได้รับการทดสอบอย่างนองเลือดในครั้งนั้น. หลายคนไม่รู้ว่าอะไรได้เกิดขึ้นในมธก., อะไรได้พัฒนาไปในมธก., แต่ก็ไม่พอใจที่มธก.ได้ทำเรื่องที่คนไทยไม่เคยทำมาก่อนทั้งสิ้น. มีแต่ผู้ประศาสน์การผู้เดียวที่รู้, ที่ทราบ; แต่ก็มิได้ปริปากจนกระทั่งตัวท่านถึงแก่อสัญกรรมที่ฝรั่งเศส--ดินแดนแห่งการปฏิวัติกระฎุมพีที่ยิ่งใหญ่. ผู้ประศาสน์การไม่ได้เป็นผู้จัดตั้งการเคลื่อนไหวที่ก้าวหน้าในมธก., ไม่ควรเอาชื่อผู้ประศาสน์การไปพัวพัน. แต่การกระทำของผู้ประศาสน์การที่ได้สร้างสถานฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานแบบใหม่ของพวกกระฎุมพีนี้ในตัวของมันเองได้กลายเป็นการจัดตั้งพลังที่ก้าวหน้าของสังคมไทย.
ผู้ประศาสน์การไม่รู้ไม่เห็นต่อการกระทำทางการเมืองใหญ่ๆของนักศึกษามาก่อน. นี่เป็นความสัจจริงที่ชาวมธก.ทุกคนรับรอง. แต่ผู้ประศาสน์การก็เป็นผู้ที่เห็นอกเห็นใจบรรดานักศึกษาและบรรดาการเคลื่อนไหวนั้นๆทุกครั้ง. มีเพียงครั้งเดียวที่ผู้ประศาสน์การไม่เห็นด้วย, คือการเตรียมเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากอินโดจีนฝรั่งเศสซึ่งหลวงพิบูลฯได้ยุให้เกิดขึ้นเพื่อเตรียมเปิดทางให้จักรพรรดินิยมญี่ปุ่นเข้ายึดประเทศไทยสะดวกจากทางด้านอินโดจีน. และครั้งนั้นนักศึกษามธก.ก็ได้ทำผิดพลาดไป, ไม่ฟังคำเตือนด้วยหวังดีของผู้ประศาสน์การของตนเองเพราะอำนาจลัทธิชาตินิยมหรือลัทธิไทยมหาอำนาจที่หลวงพิบูลฯยุขึ้นมาบดบังทรรศนะทางการเมืองที่ตนได้ศึกษามา.
ลัทธิชาตินิยมกระฎุมพีเป็นอันตรายร้ายแรงของเยาวชนและก็เป็นอันตรายร้ายแรงของประเทศชาติด้วย.
มธก.เป็นสถาบันการศึกษาของพวกกระฎุมพี. เพราะฉะนั้นถึงอย่างไรก็ยากที่จะคัดค้านทรรศนะของกระฎุมพีเองได้, โดยฉะเพาะทรรศนะชาตินิยม.
มีแต่นักศึกษาที่ก้าวไปไกลกว่าทรรศนะของกระฎุมพีเท่านั้นที่จะมีหูตาค่อนข้างแจ่มใสในเรื่องนี้.
กรณี 14 ตุลาคม เป็นเรื่องใหญ่, แต่ก็หยุดอยู่แค่ทรรศนะกระฎุมพี. อนาคตของมธก.ได้ฝากอยู่กับทรรศนะใหม่ของประชาชนที่ต้องการเอกราชและประชาธิปไตยอันแท้จริงแม้ภายใต้ระบบโลกทุนนิยม, ระบบโลกจักรพรรดินิยม.
มธก.จะต้องก้าวไป, จะต้องก้าวต่อไป, จะต้องไม่หยุดอยู่แค่พรมแดนกระฎุมพีเท่านั้น.
บัดนี้ไม่มีผู้ประศาสน์การแล้ว, แต่ทว่าวิญญาณประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าของผู้ประศาสน์การจะยังคงดำรงอยู่สืบไป.
ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว!
สายฟ้า
สิงหาคม 1984
[أ]ประโยคแรกมาจาก "ลุงไฟ: นักรบผู้เลือนหาย" (พิมพ์ครั้งแรกใน ถนนหนังสือ ตุลาคม ๒๕๒๘) ประโยคหลังมากจาก "ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้" ทั้งคู่รวมอยู่ใน ชีวิตและผลงาน: ตำนาน 'นายผี' อัศนี พลจันทร (๒๔๖๑-๒๕๓๐)ใน "ผู้เฒ่าเมอร์ลิน" ที่รวมอยู่ในเล่มเดียวกัน, จีระนันท์ พิตรปรีชา เขียนว่า "สำหรับ "สหายไท" หรือพี่เสกของข้าพเจ้า ลุงไฟดูจะเป็นมิตรแท้ในจำนวนไม่กี่คนที่มีโอกาสได้บรรจบกันบนเส้นทางปฏิวัติ มิตรภาพของคนทั้งสองได้ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ราวกับว่าแต่ละฝ่ายจมอยู่กับความเหงาหงอยมานานปี" อดีตสมาชิกหน่วย ๒๐ คนหนึ่ง ในการให้สัมภาษณ์แก่ผมเมื่อไม่กี่ปีก่อน ก็ใช้คำว่า "เด็กลุงไฟ" บรรยายถึงเสกสรรค์เมื่ออยู่ที่นั่น ความเป็นจริงของความสัมพันธ์ระหว่างเสกสรรค์กับนายผีในลาวและความสำคัญของความสัมพันธ์นี้ต่อความขัดแย้งที่หน่วย ๒๐ และภายในพคท.ในวงกว้างเป็นอย่างไร เป็นประเด็นที่ต้องรอไว้พูดถึงในโอกาสอื่น
[ب]ความจริง จะว่าไป จดหมายนี้มีความน่าสนใจอย่างอื่นอีกนอกจากเรื่องวิธีเขียนประโยคของเสกสรรค์ที่เอามาจากนายผี บทความที่เสกสรรค์ได้รับการขอให้เขียนจาก อมธ. คือหนึ่งในบทความที่ อมธ.ต้องการจะเอาไปรวมในหนังสือ อนาคตขบวนการประชาธิปไตย: รวมบทความและทัศนะแห่งยุคแสวงหาครั้งที่สอง ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามในช่วงนั้นที่จะหาทางออกจากสิ่งที่เรียกกันว่า "วิกฤตศรัทธา" คือ ภาวะสูญเสียความเชื่อในอุดมการณ์และวิธีคิดแบบพคท. แต่ยังหาสิ่งทดแทนไม่ได้
[ت]ป้าลมเล่าใน "ความงามของชีวิต" ว่า ระหว่างอยู่ป่า ช่วงวันเกิด "คุณอัศนีมีเรื่องเล่าให้ฟังแต่ละปี ช่วยผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อย มาปีนี้ [กันยายน ๒๕๒๖ วันเกิด ๖๕ ปี] เล่าถึงชีวิตสมัยอยู่นิคมมธก." น่าสังเกตว่าเป็นช่วงเดียวกับที่เราสันนิษฐานว่า นายผีเขียน "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" ที่เล่าถึงนิคมมธก.เช่นกันพอดี (สิงหาคม ๒๕๒๖) ซึ่งน่าจะเป็นการยืนยันว่าการสันนิษฐานดังกล่าวถูกต้อง
[ث]เพื่อความเป็นธรรมกับนายผี ควรกล่าวว่า ยกเว้นกรณีเดินขบวนเรียกร้องดินแดนปี ๒๔๘๓ แล้ว กรณีอื่นๆที่เขายกมาเป็นตัวอย่างของ "การต่อสู้ปฏิวัติที่อึกทึกครึกโครมและนองเลือด", "การเคลื่อนไหวที่ก้าวหน้า" ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ ไม่สามารถระบุเวลาชัดเจนได้ คืออาจจะหมายถึงช่วงทศวรรษ ๒๔๙๐ ที่เกิดขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายขึ้นแล้วจริงๆก็ได้ (เช่นที่พูดว่า "หลวงพิบูลสงครามไม่รู้ว่าการยึดและทำลายมธก., เอานักศึกษาไปเรียนร่วมกับนิสิตจุฬาฯนั้นเป็นการยกจุฬาฯให้เป็นสหายศึกของสำนักนักศึกษาท่าพระจันทร์." อาจจะหมายถึงกรณีทหารยึดมหาวิทยาลัยหลังกบฎแมนฮัตตันปี ๒๔๙๔ ก็ได้ แม้ว่าในความเป็นจริง นักศึกษามธก.ต้องย้ายที่เรียนไปที่โรงเรียนเตรียมอุดมไม่ใช่จุฬาฯ) แต่การพรรณนาโดยรวมของนายผีตอนนี้ที่ต่อเนื่องกับเรื่องของ "นิคมมธก." รวมทั้งการพาดพิงถึงจุดเล็กๆอย่าง "ดร.เดือน บุนนาค, เลขาธิการ" โดยที่เดือน เป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัยก่อนปี ๒๔๘๔ (หลังจากนั้นไปเป็น "คณบดี" ระหว่างสงคราม, "รักษาการณ์ผู้ประศาสน์การ" หลัง ๒๔๙๐, คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และคณะพาณิชย์หลัง ๒๔๙๒ และพ้นจากทุกตำแหน่งหลัง ๒๔๙๔) ให้ความรู้สึกว่าเป็นช่วงก่อนสงคราม (คือก่อน ๒๔๘๔) มากกว่า ซึ่งก็คือนายผีให้เวลาการเกิดขบวนการนักศึกษามธก.เร็วเกินจริงไปเกือบ ๑๐ ปี หรือให้ความสำคัญกับรุ่นที่เขาเรียนมธก. (รุ่นก่อนสงคราม) มากเกินไป
ต่างจากนายผี ชาญวิทย์และคณะให้ความสำคัญกับต.มธก. มากกว่านิคมมธก. ไม่เพียงในแง่ชีวิตมหาวิทยาลัยแต่ในแง่การเกิดขบวนการนักศึกษา ซึ่งพวกเขาให้เวลาถูกต้องว่าเป็นทศวรรษ ๒๔๙๐ (อันที่จริง แม้แต่การเดินขบวนเรียกร้องดินแดนในปี ๒๔๘๓ ส่วนใหญ่ก็เป็นบทบาทของนักเรียนต.มธก. ไม่ใช่ของนักศึกษา "ชาวนิคม": ชาญวิทย์และคณะ, หน้า ๑๐๑) พวกเขาเสนอว่า "นักเรียน ต.มธก.กลายเป็นรากฐานที่มีความสำคัญยิ่งต่อการเกิดของขบวนการนักศึกษาในช่วง ๑๐ ปีถัดมา ผู้นำนักศึกษาในช่วงปี ๒๔๙๐-๒๕๐๐ ล้วนแต่ผ่านการศึกษาจาก ต.มธก.เกือบทั้งสิ้น เช่น นักศึกษาที่มีบทบาทในการลงนามเกี่ยวกับสันติภาพ ซึ่งต่อมาจะถูกข้อหา "กบฎสันติภาพ" (๒๔๙๕) ที่ทางมธก.ยุคใหม่ สั่งลบชื่อจากทะเบียน ๘ คน ทั้ง ๘ คนก็เป็นนักเรียน ต.มธก." (หน้า ๑๐๒) ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างกว้างๆ แต่อยากย้ำว่า มีปัจจัย "ที่มีความสำคัญยิ่ง" อื่นๆอีก เช่น บทบาทของ พคท. ชาญวิทย์และคณะปฏิเสธที่จะกล่าวถึงพคท.โดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียใจ ความจริงคือการเคลื่อนไหวสำคัญๆของนักศึกษามธก.ที่กลายมาเป็น "ตำนาน" นั้น ส่วนใหญ่เป็นบทบาทของนักศึกษาที่เป็นสมาชิกพรรค (ผมได้ให้รายละเอียดไว้ในวิทยานิพนธ์ของตัวเองที่อ้างไว้ข้างต้น) ความผิดพลาดของนายผีใน "ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว" อยู่ที่การให้เวลาผิด (เร็วไป) แต่ข้ออ้างที่ว่ามธก. "ได้กลายเป็น…ป้อมเพชรที่แข็งแกร่ง" ของ "พรรค" นั้นถูกต้อง
[ج]ใน ชีวิตและผลงาน: ตำนาน 'นายผี' อัศนี พลจันทร (๒๔๖๑-๒๕๓๐) มีเพียงผู้ใช้นามว่า "กัญจน์ ชงค์" ที่พอจะแสดงให้เห็นถึงการตระหนักในเรื่องนี้บ้าง เขากล่าวว่า (ส่วนที่เน้นเป็นของผม) "ในข้อเขียนที่เปิดเผยต่อสาธารณะ จุดยืนของ "นายผี" คือจุดยืนของพรรคฯไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวทางนโยบายหรือทฤษฎีชี้นำด้านศิลปวรรณคดี และบางความเห็นก็ยังคงแข็งกร้าวยิ่งกว่าพรรคฯเสียอีก ในช่วงปี ๒๕๒๒-๒๕๒๓ ขณะที่สถานการณ์นอกในสับสน และเกิดกระแสวิพากษ์พคท.อย่างรุนแรงถึงรากเหง้า… "นายผี" ยังหวดกระหน่ำ… กระทบถึงปัญญาชนบางส่วนอย่างรุนแรง และแนวคิดในปัญหาศิลปวรรณคดีก็ยังคงความแข็งตัวเหมือนยุค ๒๔๙๐ ไม่เปลี่ยนแปลง …. มีคนจำนวนมากรับไม่ได้ กระทั่งนักศึกษาปัญญาชนที่เคยสนิทสนมนับถือ "นายผี" เป็นการส่วนตัว ก็มีอาการ "เซ็ง" และ "ผิดหวัง" กลับมาหลายคน" (หน้า ๑๓๖, ๑๓๙) อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ยังยืนยันว่า "ความคิดเห็นซึ่งปรากฏต่อสาธารณะของ "นายผี" กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับแนวทางพคท.ในปัจจุบัน แต่ผู้ที่เคยสัมผัสกับ "นายผี" ทุกคนรู้ดีว่า "นายผี" มีความแตกต่างกับกลุ่มบุคคลที่กุมการนำระดับต่างๆของพรรคฯอย่างลึกซึ้งถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์[?]" ความจริงก็คือ ผู้ที่เคย "สัมผัส" นายผีอาจจะไม่เข้าใจลักษณะของความขัดแย้งระหว่างเขากับผู้นำพรรคจริงๆก็ได้
การเชิดชูเหมาเจ๋อตุงและเหมาอิสม์ของนายผี ที่ "แข้งกร้าว" (พูดแบบภาษาวัยรุ่นสมัยใหม่คือ "เว่อร์สุดๆ") กว่าผู้นำพรรคคนอื่นๆทั้งหมด ก็มีให้เห็นอย่างชัดเจนในหนังสือ กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง ของเขา หรือในกลอนบางชิ้นที่เขียนในป่าแต่เพิ่งถูกนำมาเผยแพร่ในช่วงที่หายเข้าไปในลาวแล้ว ("ลัทธิเหมาเลิศล้ำอำไพ…" หรือ "คิดถึงประธานเหมา ก็กระเปร่ากระปรี้เป็น…") ลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่า irony ของความสัมพันธ์อันสนิทสนมยิ่งระหว่างนายผีกับอดีตนักศึกษาที่มีปัญหาอย่างรุนแรงกับการ "ตามจีน" ของพรรคอย่างเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นสิ่งที่ยากจะมองข้ามได้
[ح]"ฟาตีมะห์" กล่าวว่า "ที่ปัตตานีทุกคนรู้จักขุนเจริญ [สืบแสง] ที่ต่อมาได้เป็นส.ส. เรารู้ว่าขุนเจริญเป็นเสรีไทย แต่ไม่รู้ว่านายผีก็เป็น ทั้งสองคนนี้มีอะไรกุ๊กกิ๊กๆ คุยกันอยู่เรื่อยจนกระทั่งนายผีถูกย้ายไปสระบุรี" อย่างไรก็ตาม ผมไม่พบหลักฐานอื่นว่านายผีเคยเป็น "เสรีไทย" ทั้งนายผีและป้าลมเมื่อกล่าวถึงชีวิตตอนนี้ไม่ได้เอ่ยแม้แต่ชื่อเสรีไทย
[خ]ดูบทกวีที่นายผีเขียนระหว่างปี ๒๔๘๗-๒๔๙๑ พร้อม "คำอธิบาย" บทกวีเหล่านี้บางบทได้ใน รวมบทกวี, หน้า ๖๕-๑๗๐ และ ๖๔๘-๖๘๓. ผมต้องสารภาพว่า อ่านบทกวีนายผีช่วงนี้ไม่รู้เรื่องเป็นส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ผมคนเดียว เซนเซอร์สมัยนั้นดูเหมือนบางครั้งจะตัดบทกวีนายผีออกเพราะอ่านไม่รู้เรื่องเช่นกัน!) การวิเคราะห์ข้างต้นอาศัยการช่วยตีความของคุณสุจิรา คุปตารักษ์ และ "คำอธิบาย" ใน รวมบทกวี ดังกล่าว (ซึ่งบ่อยครั้งนอกจากไม่ช่วยอธิบายให้เข้าใจ ยังชวนให้งงอยู่มาก) ในระหว่างปลายเดือนพฤษภาคม ถึงต้นพฤศจิกายน ๒๔๙๑ นายผีเขียนบทกวีโต้กับ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นระยะๆทางสยามสมัย โดยมีเปลื้อง วรรณศรี เข้าร่วมโจมตีคึกฤทธิ์ด้วย
[د]ใน กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตง นายผี (ในนามปากกา "ประไพ วิเศษธานี") ได้อธิบายหลักเกณฑ์ในการแปลของตนว่า "อนึ่งในการแปลหนังสือเรื่องนี้ผู้แปลได้สนใจถ้อยคำทุกคำและหนังสือทุกตัว, ทั้งในภาษาจีนและในภาษาไทย. ถ้อยคำทุกคำและหนังสือทุกตัวในบทแปลมีหลักฐานรองรับและมีเหตุผลของมันเองโดยตลอด….ทั้งในด้านทฤษฎีลัทธิมารกษ์, ในด้านประวัติศาสตร, ภูมิศาสตรและโบราณคดี, ทั้งในด้านวรรณคดีและกวีนิพนธ์, ตลอดจนทั้งในด้านภาษาศาสตรและนิรุกติศาสตร, รวมทั้งด้านความเป็นจริงและความเรียกร้องต้องการทั้งฉะเพาะหน้าทั้งยาวไกลของการปฏิวัติไทยและจีน."
[ذ]ผมอธิบายไม่ได้ว่า เหตุใดนายผีซึ่งเข้มงวดไม่ยอมเขียนชื่อเดือนสั้นๆ จึงเขียนปี 2475 แบบนี้
[ر]ในต้นฉบับพิมพ์ดีด คำว่า "สำเร็จ" และ "โดยสิ้นเชิง" เดิมไม่มีเครื่องหมายคำพูดกำกับ เครื่องหมายคำพูดถูกเขียนใส่ลงภายหลังด้วยลายมือ