วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

ภาคประชาชนยื่นข้อเสนอรัฐบาล-กกต.ให้หนุนการพัฒนา ปชต.ภาคประชาชน

 

ภาคประชาชนยื่นข้อเสนอรัฐบาล-กกต.ให้หนุนการพัฒนา ปชต.ภาคประชาชน


วันอาทิตย์ ที่ 11 ก.ย. 2554
  Bookmark and Share

เมืองทองธานี 11 ก.ย.- "วิสุทธิ์" แจงบทบาท กกต.ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามโครงการต่าง ๆ ย้ำโครงการที่ทำมาส่งผลให้การร้องเรียนทุจริตเลือกตั้งมีน้อยลง ขณะที่ภาคประชาชนยื่นข้อเสนอ กกต. รัฐบาล พรรคการเมืองช่วยหนุนการพัฒนาประชาธิปไตยภาคประชาชน  รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณและจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคประชาชน 

นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้บรรยายพิเศษในโครงการประชาธิปไตยชุมชนเพื่อการเมืองสมานฉันท์  เรื่อง บทบาท กกต.กับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองภาคประชาชนว่า แนวทางการพัฒนาประชาธิปไตยภาคประชาชน ของ กกต.มุ่งเน้นการพัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นหลัก ไม่ว่าโครงการถวายความรู้พระสงฆ์ระดับพระสังฆาธิการ เพื่อให้ความรู้หลักในการพิจารณาเลือกคนดีกับชาวบ้าน ,โครงการชุมชนเชิงสมานฉันท์  โดยชี้ให้ประชาชนเห็นถึงผลเสียของการซื้อสิทธิขายเสียงที่เป็นการทำลายชุมชน ซึ่ง กกต.ได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเสนอแนวทางสมานฉันท์ในการเลือกตัวแทนที่เหมาะสม  และจากการชี้แจงให้ทุกภาคส่วนเข้าใจถึงบทบาทและสิ่งที่ปฏิบัติได้ในการเลือกตั้ง, โครงการพลเมืองอาสาพัฒนาประชาธิปไตย ที่มีแนวทางในการสร้างอาสาสมัครของ กกต.ในท้องถิ่น เพื่อให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการจัดการเลือกตั้ง โดยจะไปเป็นกรรมการประจำหน่วย  กรรมการนับคะแนน และสอดส่องการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตยุติธรรม สิ่งเหล่านี้ทำให้การร้องเรียนเรื่องทุจริตมีน้อยลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ผู้แทนภาคประชาชนจาก 77 จังหวัด ได้นำเสนอและมอบแนวทางการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมต่อ นายวิสุทธิ์ โดยแบ่งเป็นข้อเสนอต่อ กกต., รัฐบาล, พรรคการเมือง, สภาพัฒนาการเมืองและภาคประชาชน  โดยข้อเสนอในการพัฒนาประชาธิปไตยของภาคประชาชน เพื่อขับเคลื่อนพันธกิจไปสู่การเมืองสีขาวนั้น  ประกอบด้วย ให้ กกต.ตั้งคณะกรรมการร่วมกับภาคีความร่วมมือ โดยปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการทำงาน, บังคับใช้กติกาการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด, ปรับระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน, จัดทำแผนความร่วมมือ โดยขอให้ กกต.สนับสนุนการจัดกระบวนการพัฒนาการเมือง จัดเวทีประชาธิปไตยชุมชน และเวทีชาวบ้าน เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัคร  
 
ส่วนข้อเสนอต่อสภาพัฒนาการเมืองนั้น ขอให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองทั้งระดับภาค และระดับจังหวัด จัดทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประชาธิปไตย, ทำระบบฐานข้อมูล, ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแกนนำทุกระดับ ทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่ประชาชนเข้าใจ สร้างกระบวนการขับเคลื่อนประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนงบประมาณแก่สภาองค์กรชุมชน 

สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาล คือ ผลักดันให้การพัฒนาการเมืองภาคประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ, สนับสนุนภาคีเครือข่ายและภาคประชาชน, สนับสนุนสื่อทุกประเภทให้ทำงานอย่างสร้างสรรค์ และแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยภาคประชาชน   และข้อเสนอของภาคประชาชนนั้น ประกอบด้วย ภาคประชาชนต้องปรับตัวเองให้มุ่งสู่การพัฒนาประชาธิปไตยภาคประชาชน, จัดทำสื่อและมีอาสาสมัครติดตามการพัฒนาประชาธิปไตยภาคประชาชน, ติดตามตรวจสอบผู้สมัครรับเลือกตั้งในการดำเนินนโยบายให้เป็นจริงตามที่หาเสียง, เชื่อมโยงเครือข่ายการเมืองภาคประชาชนทุกระดับ และจัดให้มีกองทุนพัฒนาการเมืองภาคประชาชน - สำนักข่าวไทย
 

http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/265716.html

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

นักวิชาการ TDRI ขอรัฐบาลมีนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจน Sat, 2011-09-10 02:20

นักวิชาการ TDRI ขอรัฐบาลมีนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจน

สัมมนาด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอาเซียน นักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้นโยบายแรงงานข้ามชาติของไทยยังขาดการจัดการ เหตุนโยบายยังไม่คงเส้นคงวา 

เสนอให้มีนโยบายและมาตรการระยะยาวที่แน่นอน ปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพขึ้น สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

 

(9 ก.ย.54) เวลา 9.00น. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดการสัมมนานำเสนอผลการวิจัย โครงการการจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคอาเซียน: กรณีศึกษาประเทศไทย ที่โรงแรมดิ เอมเมอร์รัล ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงศ์ นักวิชาการอาวุโสจากทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อการจัดการแรงงานข้ามชาติในไทย โดยระบุว่าจากสถิติปี 2553 มีแรงงานย้ายถิ่นเข้าสู่ประเทศไทยทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานถูกกฎหมาย 0.345 ล้านคน และแรงงานผิดกฎหมาย 0.96 ล้านคน ในส่วนของแรงงานเข้าเมืองถูกกฎหมายจำแนกตามประเทศต้นทาง (ไม่รวมแรงงานชั่วคราวและใต้กฎหมายส่งเสริมการลงทุน) 4 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น คิดเป็น 23% ตามด้วยจีน 9% สหราชอาณาจักร 8% และอินเดีย 8% โดย 90% เป็นกำลังคนระดับสูง อาทิ ผู้จัดการฝ่ายผลิต/ปฏิบัติการ ครู ผู้บริหารระดับสูง

ขณะที่แรงงานข้ามชาติเข้าเมืองผิดกฎหมายจากกัมพูชา ลาว และพม่า ส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ และก่อสร้าง โดยจากการศึกษาของหลายแห่งพบว่า แรงงานเหล่านี้มีส่วนช่วยยืดชีวิตอุตสาหกรรมเกษตรจากความขาดแคลนแรงงานและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น โดยยังรักษาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก เช่น สิ่งทอไว้ ช่วยให้จีดีพีเติบโตเพิ่มขึ้น 0.5% ในปี 2538 ทดแทนแรงงานไทยระดับล่างได้สูง ทั้งนี้ แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ส่งเงินกลับบ้านปีละประมาณ 12.6 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม พบว่าที่ผ่านมา นโยบายด้านแรงข้ามชาติของไทยยังไม่คงเส้นคงวา โดยมีการขึ้นทะเบียนที่ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ไม่สามารถจัดการแรงงานข้ามชาติได้ ขณะที่เคยมีการประกาศจัดเก็บเงินเข้ากองทุนการส่งกลับให้มีผลในปี 2554 ก็ปรากฎว่าไม่มีใครยอมจ่าย เกิดการประท้วง และไม่ถูกพูดถึงอีกเลย รวมถึงในรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แต่ก็ไม่พูดถึงนโยบายแรงงานข้ามชาติ

นอกจากนี้ ยังไม่มีมาตรการด้านอุตสาหกรรมรองรับการลดการใช้แรงงานระดับล่าง การป้องกันและปราบปรามแรงงานผิดกฎหมาย รวมถึงการคุ้มครองแรงงานยังมีข้อจำกัด จึงเสนอให้มีนโยบายและมาตรการระยะยาวที่แน่นอน ปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพขึ้น สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ลงโทษผู้ที่ทำการค้ามนุษย์หรือมีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังและสาสม นอกจากนี้ อาจพิจารณาศึกษาและกำหนดนโยบายการจัดระเบียบการเคลื่อนย้ายแรงงานระดับล่างในประเทศอาเซียน

ด้านการบริหารจัดการแรงงานไทยในต่างประเทศ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ให้ภาพรวมว่า ปัจจุบันแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศเพียง 0.26% ของประชากรทั้งหมด เนื่องจากสถานะการเจริญเติบโตทางธุรกิจของไทยที่เปลี่ยนจากผู้ส่งออกเป็นผู้นำเข้าแรงงาน ทั้งนี้ ประเทศที่แรงงานไทยแจ้งความประสงค์ไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ลิเบีย และอิสราเอล

ทั้งนี้ การเคลื่อนย้ายแรงงานของแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศนั้น ส่งผลในทางบวกกับประเทศไทยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสมดุลทางการเงินและลดปัญหาการว่างงาน โดย "เงินส่งกลับ" ถือเป็นแหล่งรายได้ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีบทบาทยกระดับบัญชีประชาชาติ และส่งผลต่อการกระจายรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีความสำคัญกับจีดีพี เนื่องจากเงินส่งกลับคิดเป็น 1% ของมูลค่าการส่งออกของประเทศ โดยจากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2552 มีเงินส่งกลับ 5,125 ล้านบาท ขณะที่ไทยมีมูลค่าการส่งออก 495,337 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม พบว่าการบังคับใช้กฎหมายแรงงานไทยยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก และยังมีข้อบกพร่องเรื่องสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติตามกฎหมายและคอร์รัปชั่นของผู้บังคับใช้กฎหมาย กรมการจัดหางานควรกำหนดมาตรการกับบริษัทจัดหางาน เพื่อแก้ปัญหาแรงงานไทยในต่างแดนถูกเอาเปรียบ ละเลย ให้ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมด้วย นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและบริษัทจัดหางานควรร่วมมือกันพัฒนาทักษาแรงงานให้มีทักษะเพียงพอกับความต้องการของนายจ้าง ทักษะที่จำเป็นเช่น ภาษา ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศปลายทาง และความเข้าใจในเงื่อนไขและข้อตกลงต่างๆ เกี่ยวกับสัญญาการจ้างงานของตนเอง ขณะที่อาเซียน อาเซียน +3 และประเทศที่นำเข้าแรงงานควรร่วมมือกันเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของกระบวนการการให้วีซ่าทำงาน การออกใบอนุญาตทำงานและเอกสารต่างๆ ที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแรงงานมีฝีมือเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในตลาดแรงงานด้วย

ด้าน เสก นพไธสง จากกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า ตามปฏิญญาเซบูว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ ซึ่งประเทศอาเซียนลงนามกันไปเมื่อปี 2550 กำหนดให้มีการยกร่างตราสารปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน แม้ประชุมกันไปแล้ว 3 ครั้ง แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งบ้างเป็นประเทศผู้รับ บ้างเป็นประเทศผู้ส่งแรงงาน ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในรายละเอียด อาทิ ประเทศผู้รับแรงงานจะดูแลแรงงานถูกกฎหมายเท่านั้นหรือทั้งหมด จะดูแลครอบคลุมถึงครอบครัวของแรงงานด้วยหรือไม่ เป็นต้น

http://prachatai.com/journal/2011/09/36862

เจาะปมต่างด้าวค้าที่ดินเชิด“นอมินี”แปลงร่าง“ไทยเทียม” ตะลึง!กว้านซื้อ 100 ล้านไร่ทั่วไทย

เจาะปมต่างด้าวค้าที่ดินเชิด"นอมินี"แปลงร่าง"ไทยเทียม" 

ตะลึง!กว้านซื้อ 100 ล้านไร่ทั่วไทย

เปิดข้อมูลลึกทุน"ต่างด้าว"หลีกเลี่ยงกฎหมาย เชิด "นอมินี"คนไทย แปลงร่างเป็นบริษัทไทยเทียมถือครองที่ดินแทน สารพัดวิธีทั้ง ภูเก็ต เกาะสมุย เกาะช้าง "ศรีราชา เจริญพานิช" ผู้ตรวจการแผ่นดินแฉผ่านงานวิจัยนักศึกษา ป.โท ประเทศไทยถูกกว้านซื้อแล้ว 100 ล้านไร่

      ปัญหา "ต่างด้าว" หลีกเลี่ยงกฎหมาย  โดยการเชิดคนไทย หรือที่เรียกว่า "นอมินี"  ถือครองที่ดินแทน  มีการร้องเรียนและเป็นข่าว มาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา   จนถึงขนาดที่กรมที่ดิน  ออกหนังสือ ขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ตรวจสอบและสอบสวนกรณีที่มีเหตุสงสัยว่าจะมีการถือครองที่ดินไว้แทนคนต่างด้าว   (พ.ย. 2552)

      ทั้งนี้ รูปแบบ ที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือ การจดทะเบียนสมรสกับคนไทย หรือให้คนไทยถือครองที่ดินแทน หรือ ตั้งบริษัท โดยให้คนไทยเป็นผู้ถือหุ้นแทนคนต่างด้าว  ที่เรียกว่า บริษัท ไทยเทียม   เพราะแม้ว่า สัดส่วนการถือหุ้นจะเป็นคนไทย 51 % ต่างด้าว 49 % 

       แต่เอาเข้าจริง หุ้น 51 %  กลับกลายเป็นของต่างด้าว เพราะเป็นการเชิดคนไทยถือหุ้นแทน และประเด็นที่สำคัญ สิทธิการออกเสียง แทบ 100 %  เป็นของต่างด้าว

      ในช่วง 4-5ปีที่แล้ว กระแสลงทุนของต่างด้าวในธุรกิจที่ดิน บูมแบบสุดๆ  ในแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี  เกาะภูเก็ต   จนมาถึงอำเภอหัวหิน  ไม่นับฝั่งตะวันออก พัทยา ชลบุรี  หาดระยอง   กลายเป็น  land for sale  สำหรับต่างด้าว

      ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ในช่วงปี 2549  มีการจดทะเบียนบริษัทบนเกาะสมุย เดือนละ 100บริษัท เพื่อทำธุรกิจค้าที่ดิน

      จากการตรวจสอบ สำนักงานแห่งหนึ่งบนเกาะสมุยพบว่ามี บริษัท 500แห่งตั้งอยู่เลขที่สำนักงานเดียวกัน และมีผู้หญิงไทยจากจังหวัดเลย นั่งเป็นกรรมการอยู่เกือบ 100บริษัท     ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ  งบการเงินของบริษัท 500แห่ง ที่ยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์ เป็นตัวเลขชุดเดียวกัน

        ทั้งๆ ที่ ตามกฎหมายไทย  ต่างด้าว เข้ามาค้าที่ดินในประเทศไทย ไม่ได้   

        เพราะเป็นการกระทำผิด ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542และประมวลกฎหมายที่ดิน แบบเต็มๆ

        ในปี 2552    ห้าอันดับแรกทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ สหราชอาณาจักร 1,267ล้าน ฮ่องกง 1,035ล้าน ออสเตรเลีย 882.8ล้าน สหรัฐอเมริกา 546ล้าน เยอรมนี 444.7ล้าน

        จากข้อมูลเชื่อได้ว่า ทุนต่างชาติที่ไหลบ่าเข้ามาลงทุนบนเกาะภูเก็ต  ล้วนเชิด "นอมินี" แปลงกายเป็น บริษัทไทยเทียม อย่างแนบเนียน

        โมเดลแบบเกาะสมุย หรือ โมเดล ภูเก็ต เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย 

        ไม่แปลกถ้าจะพบ หมู่บ้านสวิสเซอร์แลนด์ หมู่บ้านออสเตรีย หมู่บ้านเยอรมนี หมู่บ้านอังกฤษ  ในแผ่นดินไทย

        ปัจจุบัน หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วย กรมที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง องค์กรปกครองท้องถิ่น

        แต่เชื่อหรือไม่ว่า ตลอด 5-6ปีที่ผ่านมา  ยังไม่สามารถตรวจสอบพบผู้กระทำผิด จนนำไปสู่การดำเนินคดีได้ตามกฎหมายสักรายเดียว

        หลังจากมีการร้องเรียน และเป็นข่าวฮือฮาว่า ต่างด้าวฮุบที่ดิน แขกตะวันออกกลางเข้ามาทำนา    แต่จนถึงวันนี้ ทั้งกรมที่ดิน และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังตรวจไม่พบ "ต่างด้าว" หรือนอมินี  แม้สักรายเดียว

        ล่าสุด เมื่อไม่นานมานี้ มีการเปิดตัวเลขที่น่าตกใจว่า ที่ดิน 100ล้านไร่ อยู่ในครอบครองของต่างด้าว

 

       " ทราบหรือไม่ว่า ขณะนี้ พื้นที่ของประเทศไทยถูกชาวต่างชาติซื้อไปแล้วในรูปแบบต่างๆ ประมาณ 1ใน 3หรือประมาณ 100ล้านไร่โดยเฉพาะพื้นทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นเกาะภูเก็ต เกาะสมุย เกาะช้าง พื้นที่ชายหาด พื้นที่ริมทะเล ประมาณร้อยละ 90  ถูกชาวต่างชาติถือครองอยู่เพื่อประกอบกิจการโรงแรมที่พักและมีการชักชวนชาวต่างชาติด้วยกันเองมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยเพิ่มสูงมากขึ้น"  

 

       เป็นการเปิดเผยข้อมูล โดย ศาสตราจารย์ศรีราชา เจริญพานิช  ผู้ตรวจการแผ่นดิน  (  28มิถุนายน 2554)

 

      "ศรีราชา" ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า    ทุกวันนี้ คนต่างชาติจะมาอยู่ที่ประเทศไทยเสมือนเป็นบ้านหลังที่สอง โดยจะมาเดินทางพักผ่อนเมื่อภูมิอากาศของประเทศตนเองเป็นฤดูหนาว พออากาศหนาวก็จะมาอยู่ในประเทศไทยที่อากาศอบอุ่นกว่า ค่าครองชีพก็ถูกกว่ามากแนวความคิดการมีบ้านหลังที่สองที่ประเทศไทยนี้กำลังได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

       กระบวนการเชิดนอมินีคนไทย นั่งเป็นกรรมการบริษัทไทยเทียม ถูกออกแบบและให้คำปรึกษาอย่างดีจาก สำนักงานกฎหมาย หรือ Law Firm  ในการจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นให้เป็นบริษัทไทย    รวมถึงการหา กรรมการและผู้ถือหุ้น ไว้เสร็จสรรพ

 

      ต่างด้าว สามารถเข้ามาลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือ ซื้อรีสอร์ท หรูหรา มูลค่ามหาศาล ผ่านการถือหุ้นในรูปบริษัท ที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งก่อสร้าง  ฉะนั้น การถือหุ้นก็ถือเสมือนการถือครองที่ดิน นั่นเอง

 

      นี่คือ การบริการทางกฎหมายที่หาช่องเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งเป็นที่รู้กันดี    ประเด็นที่น่าสนใจคือ โครงการลงทุนของต่างชาติในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีการแจกหุ้นลมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง  ผู้บริหารสถาบันการเงินใหญ่ และผู้มีอำนาจมากบารมี  เพื่อหวังพึ่งพิงระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ

 

      อย่างไรก็ตาม มุมมองทางกฎหมาย ในกรณีต่างด้าวเข้ามาค้าที่ดิน โดยใช้บริการของ สำนักงานกฎหมาย ก็ยังเป็นประเด็นมองต่างมุม   ฝ่ายหนึ่งมองว่า ไม่น่าเสียหายอะไร เป็นแค่การบริการทางกฎหมาย เพราะกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้

 

       แต่อีกฝ่ายเห็นว่า ควรออกกฎหมายมาลงโทษ   นอมินีคนไทยที่ถือครองที่ดิน รวมถึง นักกฎหมายที่ให้คำปรึกษาเพื่อเลี่ยงกฎหมาย ให้หนัก เพื่อแก้ปัญหาต่างด้าวเข้ามาค้าที่ดินในประเทศไทย

 

       ในช่วงปลายรัฐบาล "ขิงแก่" พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีพยายามแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวฯ เพื่อปิดช่อง "ต่างด้าว" เชิดคนไทยถือหุ้นแทนในบริษัทไทยเทียม แต่จนแล้วจนรอด ร่างกฎหมายก็แท้งไปเสียก่อน  

 

      ปัญหาต่างด้าวเข้ามาค้าที่ดิน อันเป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยในบัญชี 1พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวฯ  ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันต่อไป

 

       ด้านหนึ่ง พวกที่เชื่อในโลกการค้าเสรี เห็นว่า ควรเปิดช่องให้ ต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจค้าที่ดิน จะได้เกิดการแข่งขัน เพราะเห็นว่า ทุนไทยกับทุนต่างด้าวไม่แตกต่างกัน  เห็นควรให้ปรับปรุงบัญชีท้ายพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวให้สอดคล้องกับโลกการค้าเสรี  หรือ ไม่ก็เปิดช่องให้ ต่างชาติเช่า  ตามที่ต้องการ

วาทะกรรมของฝ่ายนี้ก็คือ  ต่างชาติหอบเอาแผ่นดินกลับบ้านไปได้ไหม !!!

       อีกด้านหนึ่งกลุ่มชาตินิยมที่หวงแหนแผ่นดิน  กลับมองว่า ที่ดินเป็นสมบัติของชาติ  ไม่ควรเปิดประตูให้ต่างด้าวเข้ามาโดยเด็ดขาด และคนไทยที่ให้ความร่วมมือกับต่างด้าวต้องถูกลงโทษให้หนัก  เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

      จะว่าไป ปัญหา "ดีแทค"ยักษ์โทรคมนาคม  ที่ถูก" ทรู"ทุนไทย ยื่นร้องเรียนว่า เป็นบริษัทต่างด้าว  ก็เป็นปัญหาว่า ไทยเทียม นั่นเอง

      กล่าวกันว่า ถ้าจะเล่นงาน บริษัทไทยเทียมกันจริงๆ  จะมีบริษัทที่เข้าข่ายแบบ "ดีแทค" หลายพันบริษัท ที่ต่างชาติหอบเงินเข้ามาลงทุนหลายแสนล้าน

      เรื่องนี้ ไม่มีคำตอบที่เบ็ดเสร็จ เพราะเลือกทางหนึ่ง ก็เสียอีกทางหนึ่ง 

      วิธีการที่รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัย ใช้ก็คือ หลับตาเสียข้างหนึ่ง  เพราะรัฐบาลยังต้องการเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ

      เพราะบางทีทุนไทยและปัญญาไทย อาจก่อสร้างได้แค่ ตึกแถว !!!!

 

 ข้อมูล มาตรการทางกฎหมายในการแก้ปัญหาคนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจค้าที่ดิน 

สารนิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม

http://www.tcijthai.com/investigative-story/659