นักวิชาการ TDRI ขอรัฐบาลมีนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจน
Sat, 2011-09-10 02:20
สัมมนาด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอาเซียน นักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้นโยบายแรงงานข้ามชาติของไทยยังขาดการจัดการ เหตุนโยบายยังไม่คงเส้นคงวา
เสนอให้มีนโยบายและมาตรการระยะยาวที่แน่นอน ปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพขึ้น สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
(9 ก.ย.54) เวลา 9.00น. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดการสัมมนานำเสนอผลการวิจัย โครงการการจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคอาเซียน: กรณีศึกษาประเทศไทย ที่โรงแรมดิ เอมเมอร์รัล ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงศ์ นักวิชาการอาวุโสจากทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อการจัดการแรงงานข้ามชาติในไทย โดยระบุว่าจากสถิติปี 2553 มีแรงงานย้ายถิ่นเข้าสู่ประเทศไทยทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานถูกกฎหมาย 0.345 ล้านคน และแรงงานผิดกฎหมาย 0.96 ล้านคน ในส่วนของแรงงานเข้าเมืองถูกกฎหมายจำแนกตามประเทศต้นทาง (ไม่รวมแรงงานชั่วคราวและใต้กฎหมายส่งเสริมการลงทุน) 4 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น คิดเป็น 23% ตามด้วยจีน 9% สหราชอาณาจักร 8% และอินเดีย 8% โดย 90% เป็นกำลังคนระดับสูง อาทิ ผู้จัดการฝ่ายผลิต/ปฏิบัติการ ครู ผู้บริหารระดับสูง
ขณะที่แรงงานข้ามชาติเข้าเมืองผิดกฎหมายจากกัมพูชา ลาว และพม่า ส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ และก่อสร้าง โดยจากการศึกษาของหลายแห่งพบว่า แรงงานเหล่านี้มีส่วนช่วยยืดชีวิตอุตสาหกรรมเกษตรจากความขาดแคลนแรงงานและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น โดยยังรักษาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก เช่น สิ่งทอไว้ ช่วยให้จีดีพีเติบโตเพิ่มขึ้น 0.5% ในปี 2538 ทดแทนแรงงานไทยระดับล่างได้สูง ทั้งนี้ แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ส่งเงินกลับบ้านปีละประมาณ 12.6 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม พบว่าที่ผ่านมา นโยบายด้านแรงข้ามชาติของไทยยังไม่คงเส้นคงวา โดยมีการขึ้นทะเบียนที่ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ไม่สามารถจัดการแรงงานข้ามชาติได้ ขณะที่เคยมีการประกาศจัดเก็บเงินเข้ากองทุนการส่งกลับให้มีผลในปี 2554 ก็ปรากฎว่าไม่มีใครยอมจ่าย เกิดการประท้วง และไม่ถูกพูดถึงอีกเลย รวมถึงในรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แต่ก็ไม่พูดถึงนโยบายแรงงานข้ามชาติ
นอกจากนี้ ยังไม่มีมาตรการด้านอุตสาหกรรมรองรับการลดการใช้แรงงานระดับล่าง การป้องกันและปราบปรามแรงงานผิดกฎหมาย รวมถึงการคุ้มครองแรงงานยังมีข้อจำกัด จึงเสนอให้มีนโยบายและมาตรการระยะยาวที่แน่นอน ปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพขึ้น สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ลงโทษผู้ที่ทำการค้ามนุษย์หรือมีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังและสาสม นอกจากนี้ อาจพิจารณาศึกษาและกำหนดนโยบายการจัดระเบียบการเคลื่อนย้ายแรงงานระดับล่างในประเทศอาเซียน
ด้านการบริหารจัดการแรงงานไทยในต่างประเทศ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ให้ภาพรวมว่า ปัจจุบันแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศเพียง 0.26% ของประชากรทั้งหมด เนื่องจากสถานะการเจริญเติบโตทางธุรกิจของไทยที่เปลี่ยนจากผู้ส่งออกเป็นผู้นำเข้าแรงงาน ทั้งนี้ ประเทศที่แรงงานไทยแจ้งความประสงค์ไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ลิเบีย และอิสราเอล
ทั้งนี้ การเคลื่อนย้ายแรงงานของแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศนั้น ส่งผลในทางบวกกับประเทศไทยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสมดุลทางการเงินและลดปัญหาการว่างงาน โดย "เงินส่งกลับ" ถือเป็นแหล่งรายได้ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีบทบาทยกระดับบัญชีประชาชาติ และส่งผลต่อการกระจายรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีความสำคัญกับจีดีพี เนื่องจากเงินส่งกลับคิดเป็น 1% ของมูลค่าการส่งออกของประเทศ โดยจากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2552 มีเงินส่งกลับ 5,125 ล้านบาท ขณะที่ไทยมีมูลค่าการส่งออก 495,337 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม พบว่าการบังคับใช้กฎหมายแรงงานไทยยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก และยังมีข้อบกพร่องเรื่องสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติตามกฎหมายและคอร์รัปชั่นของผู้บังคับใช้กฎหมาย กรมการจัดหางานควรกำหนดมาตรการกับบริษัทจัดหางาน เพื่อแก้ปัญหาแรงงานไทยในต่างแดนถูกเอาเปรียบ ละเลย ให้ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมด้วย นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและบริษัทจัดหางานควรร่วมมือกันพัฒนาทักษาแรงงานให้มีทักษะเพียงพอกับความต้องการของนายจ้าง ทักษะที่จำเป็นเช่น ภาษา ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศปลายทาง และความเข้าใจในเงื่อนไขและข้อตกลงต่างๆ เกี่ยวกับสัญญาการจ้างงานของตนเอง ขณะที่อาเซียน อาเซียน +3 และประเทศที่นำเข้าแรงงานควรร่วมมือกันเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของกระบวนการการให้วีซ่าทำงาน การออกใบอนุญาตทำงานและเอกสารต่างๆ ที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแรงงานมีฝีมือเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในตลาดแรงงานด้วย
ด้าน เสก นพไธสง จากกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า ตามปฏิญญาเซบูว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ ซึ่งประเทศอาเซียนลงนามกันไปเมื่อปี 2550 กำหนดให้มีการยกร่างตราสารปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน แม้ประชุมกันไปแล้ว 3 ครั้ง แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งบ้างเป็นประเทศผู้รับ บ้างเป็นประเทศผู้ส่งแรงงาน ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในรายละเอียด อาทิ ประเทศผู้รับแรงงานจะดูแลแรงงานถูกกฎหมายเท่านั้นหรือทั้งหมด จะดูแลครอบคลุมถึงครอบครัวของแรงงานด้วยหรือไม่ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น