วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

ไอซีที ตั้ง 2 คณะอนุกก.คุมสมาร์ทเน็ตเวิร์ก-รายงานทุก 2 สัปดาห์

 

ไอซีที ตั้ง 2 คณะอนุกก.คุมสมาร์ทเน็ตเวิร์ก-รายงานทุก 2 สัปดาห์

รมว.ไอซีที นั่งหัวโต๊ะสมาร์ทเน็ตเวิร์ก ต้อนทีโอที กสท ร่วมก๊วน พร้อมตั้ง 2 คณะอนุกรรมการ กำหนดยุทธศาสตร์หวังผลักดันนโยบายถึงฝัน พร้อมกำชับส่งการบ้านทุก 2 สัปดาห์...

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินนโยบายสมาร์ทไทยแลนด์ (Smart Thailand) ว่า กระทรวงฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ผลักดันนโยบายสมาร์ทเน็ตเวิร์ก (Smart Network) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการจัดทำแผนการดำเนินงานให้เกิดความชัดเจน และผลักดันการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายดังกล่าว โดยมี รมว.ไอซีที เป็นประธาน และมีกรรมการ รวมทั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ร่วมในคณะกรรมการชุดนี้

รมว.ไอซีที กล่าวต่อว่า ระยะเริ่มแรกภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องผลักดัน คือ การพัฒนาโครงข่ายให้สามารถเชื่อมโยงรองรับการให้บริการบรอดแบนด์อย่างทั่วถึง และครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนไม่ต่ำกว่า 80% สามารถใช้บริการได้ภายในปี 2558 และไม่ต่ำกว่า 95% ใช้บริการได้ภายในปี 2563 พร้อมทั้งกำหนดกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงข่ายให้ได้มาตรฐานรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพื่อให้บริการที่มีคุณภาพในอัตราที่เหมาะสม

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการรองรับการบริหารจัดการโครงข่ายที่มีประสิทธิภาพจึงต้องพิจารณากำหนดรูปแบบ แนวทางการบริหารจัดการ และการลงทุน เพื่อพัฒนาโครงข่ายบรอดแบนด์ให้เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ตลอดจนพิจารณากรอบวงเงินและแหล่งเงินในการลงทุน เพื่อพัฒนาโครงข่ายบรอดแบนด์เพิ่มเติมให้สามารถเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ และตอบสนองต่อความต้องการใช้บริการของทุกภาคส่วนได้อย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเท่าเทียม

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 2 คณะ คือ 

1.คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงข่ายและรูปแบบการบริหารจัดการโครงข่าย เพื่อรองรับการให้บริการบรอดแบนด์ ทำหน้าที่ศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงข่าย และขีดความสามารถ เพื่อรองรับการให้บริการบรอดแบนด์ พิจารณากรอบวงเงินลงทุน รูปแบบ และแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม รวมทั้งการสนับสนุนส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาโครงข่ายให้บริการบรอดแบนด์ที่มีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนซ้ำซ้อน และสามารถรองรับการให้บริการที่มีคุณภาพในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม และ 

2.คณะอนุกรรมการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายในการบริหารจัดการโครงข่าย การใช้บรอดแบนด์ ทำหน้าที่พิจารณาข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การโอนกรรมสิทธิ์ เงื่อนไขการบริหารจัดการโครงข่าย และสิทธิในการใช้ทรัพย์สินตามสัญญาร่วมการงาน เป็นต้น โดยคณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุดจะรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการฯ ทุก 2 สัปดาห์

โดย: ทีมข่าวไอทีออนไลน์

21 เมษายน 2555, 15:30 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น