วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

"5-10-15" สูตรคืนคลื่น "กสทช." กรณี 1 ปณ.ภาพสะท้อนภารกิจหิน

 
วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 19:34:38 น.

"5-10-15" สูตรคืนคลื่น "กสทช." กรณี 1 ปณ.ภาพสะท้อนภารกิจหิน

Share8





พลันที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเมื่อ 9 พ.ย. 2554 ที่ผ่านมา ให้ระงับการดำเนินการใด ๆ ในการจัดทำหรือขยายสัญญากับเอกชนผู้ร่วมจัดรายการสถานีวิทยุ 1 ปณ. ทั้ง 9 สถานี ตั้งแต่ 31 ธ.ค. 2554 เกิดกระแสตีกลับทันควัน จากทั้งผู้บริหารคลื่นและแฟนคลับรายการวิทยุคลื่น "กรีนเวฟ" FM 106.5 MHz ในเครือแกรมมี่ 

"ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม" บิ๊กจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ถึงกับออกโรงเองว่า สัญญาเช่าไม่ได้หมดสิ้นปี และจะฟ้องศาลปกครองหากได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

ร้อนถึง "กสทช.-พ.อ.นที ศุกลรัตน์" ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) ดูแลด้านบรอดแคสตŒต้องรีบแจกแจง ผ่านทวิตเตอร์ว่า จะขยายให้อีก 6 เดือน

ว่ากันว่า ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรณี 1 ปณ.ไม่เพียงกลายเป็นปมขัดแย้งและสร้างความสับสนทั้งระหว่างผู้ประกอบการเอกชนกับหน่วยงานกำกับดูแลใหม่นาม "กสทช." แต่ได้สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ "กสทช." จะต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้นี้

1 ปณ. มี 9 สถานี ได้แก่ FM 106.5 MHz และ FM 98.5 MHz ในกรุงเทพฯ AM 1035 kHz และ AM 1089 kHz หลักสี่ FM 102 MHz อุบลราชธานี FM 99 MHz และ AM 1089 kHz อุดรธานี FM 89 MHz ภูเก็ต และ AM 765 kHz ลำปาง โดยสำนักงาน กทช.ได้รับโอนกรรมสิทธิ์จากกรมไปรษณีย์โทรเลขตั้งแต่ 1 พ.ย. 2547 และปัจจุบันโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ กสทช.เมื่อ 20 ธ.ค. 2553 

"ฐากร ตัณฑสิทธิ์" รักษาการเลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า ปัจจุบันค่าตอบแทนคลื่น FM 106.5 (กรีนเวฟ) อยู่ที่ 2.7 ล้านบาท/เดือน (เพิ่งขึ้นเมื่อต.ค.ที่ผ่านมา จากเดิม 6.2 แสนบาท/เดือน ในช่วงก่อนปี 2553 และ 2.1 ล้านบาท ระหว่าง 1 ม.ค. 2553-ส.ค. 2554) 

ขณะที่ FM 98.5 MHz กำหนดค่าตอบแทน 2.1 ล้านบาท/เดือน แต่ยังมีข้อพิพาทในศาลแพ่ง เนื่องจากค้างการจ่ายค่าตอบแทนราว 40 ล้านบาท ส่วน FM ในต่างจังหวัดค่าตอบแทนเดือนละ 2 แสนบาท คลื่น AM ที่ 1.5 แสนบาท 

สัญญาอนุญาตให้ผู้ร่วมจัดรายการของสถานีวิทยุ 1 ปณ.มีเงื่อนไขคล้ายคลึงกัน แต่วันทำสัญญาต่างกันเล็กน้อย สำหรับสัญญาที่ทำกับ "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" ระบุว่า หาก กสทช.ต้องการนำคลื่นความถี่ไปบริหารจัดการใหม่ ให้ถือว่า สัญญาสิ้นสุดลงทันที นับแต่วันที่ผู้ร่วมจัดรายการได้รับแจ้งจากสำนักงาน กสทช. และไม่ถือเป็นเหตุในการเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งหากมีข้อขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้น คู่สัญญาต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทของ กสทช.

"สุภิญญา กลางณรงค์" กสทช.และโฆษกบอร์ด กสทช.ระบุว่า การจัดระเบียบคลื่นใหม่เป็นหน้าที่ กสทช.ตามกฎหมายจึงต้องการให้การบริหารจัดการสถานีวิทยุ 1 ปณ.เป็นแบบอย่างหน่วยงานอื่นในการเตรียมตัวก่อนที่จะมีการคืนคลื่นเพื่อจัดสรรใหม่ทั้งหมด 

"ขนาด 1 ปณ.เป็นของ กสทช.เองยังไม่ง่าย ในส่วนคลื่นอื่น ๆ จึงต้องรอบคอบในการดำเนินการมากขึ้น"

บอร์ด กสทช. (23 พ.ย. 2554) มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่แล้วได้ข้อสรุปในการกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นตามสูตร 5-10-15 

กล่าวคือ กิจการกระจายเสียงต้องคืนใน 5 ปี โทรทัศนŒ 10 ปี และโทรคมนาคม 15 ปี คลื่นที่มีการใช้ใต้สัมปทานให้ยึดเวลาสิ้นสุดตามสัญญา

การคิดระยะเวลาคืนคลื่นประเมินจากอายุใบอนุญาตตาม พ.ร.บ. กสทช. ใช้ฐาน 2 ใน 3 ของไลเซนส์ใหม่ เช่น ใบอนุญาตวิทยุมีระยะเวลา 7 ปี 2 ใน 3 เท่ากับ 5 ปี ส่วนโทรคมนาคมพิจารณาตามสัมปทานที่เหลือมากที่สุด คือทีโอที 12 ปี จึงให้คืนคลื่นภายใน 15 ปี 

"สัปดาห์หน้าจะนำร่างฯขึ้นเว็บและเปิดประชาพิจารณ์ครั้งแรก ธ.ค. หากไม่มีอุปสรรคอื่นคาดว่าแผนแม่บทจะเสร็จใน 6 เดือน เพื่อให้มีแผนที่กำหนดภาพรวมการใช้คลื่น มีตารางย่านความถี่ และแผนแม่บททั้ง 2 ด้านแล้ว จะออกเกณฑ์ประมูลคลื่น วิธีจัดสรรคลื่นได้"

หมายความว่า จะได้เห็นการประมูลคลื่น 3G ที่เฝ้ารอกันมานานสักที

หลังปรากฏการณ์ "1 ปณ." เชื่อว่า มากกว่าการตีกรอบเวลาคืนคลื่น "5-10-15 ปี" ที่คล้ายกับว่าจะปลายทางการทำงาน กสทช.ชุดแรกด้วยซ้ำไป แต่ "11 กสทช." คงพอรู้แล้วว่าต้องเจออะไรมากกว่า ระหว่าง "ดอกไม้และก้อนหิน"


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1322397133&grpid=&catid=06&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น