วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

ผลสะเทือน ล้ำลึก จากกรณี สัก กอแสงเรือง ถึงราก ตุลาการภิวัฒน์

 

ผลสะเทือน ล้ำลึก จากกรณี สัก กอแสงเรือง ถึงราก ตุลาการภิวัฒน์

วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 16:00:00 น.

Share5




(ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 19 มีนาคม 2555)

 

 


กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ นายสัก กอแสงเรือง ส.ว.สรรหา พ้นจากสมาชิกภาพแห่งวุฒิสภา ดำเนินไปในลักษณะอันเรียกกันว่า

บัตเตอร์ฟลาย เอฟเฟ็กต์

ประเภทที่คนเจ้าสำบัดเจ้าสำนวน อาจผูกประโยคออกมาหรูๆ ได้ว่า "เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว"

ดาวดวง 1 คือ ส.ว.ประเภทสรรหา

ดาวดวง 1 คือ คณะกรรมการคัดสรรผู้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

ดาวดวง 1 คือ สภาทนายความ ต้นสังกัด นายสัก กอแสงเรือง

น่าสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่งที่ข้อกล่าวหาการได้มาซึ่งสมาชิกภาพแห่งวุฒิสมาชิกของ นายสัก กอแสงเรือง ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

นั่นก็คือ นายสัก กอแสงเรือง พ้นจากสถานการณ์เป็น ส.ว.ไม่นานเกินที่กำหนดเอาไว้

ทั้งๆ ที่ นายสัก กอแสงเรือง เป็นประธานสภาทนายความ ทั้งๆ ที่สภาทนายความซึ่งคัดสรร นายสัก กอแสงเรือง ส่งให้คณะกรรมการสรรหา

ทั้งหมดล้วนเป็นนักกฎหมายระดับเยี่ยมยุทธ

ต้องยอมรับว่า นายสัก กอแสงเรือง มิได้เคยเป็น ส.ว.มาก่อนหน้านี้เท่านั้น หากแต่เป็น ส.ว. ซึ่งได้รับการคัดสรรจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ให้เข้าไปดำรงตำแหน่งเป็น

กรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งมีชื่อย่อว่า "คตส."

เช่นเดียวกับ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา

เมื่อพ้นจากการเป็นคณะกรรมการ คตส. ก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาทนายความ และต่อมาเมื่อมีการพิจารณา ส.ว.สรรหาจำนวนหนึ่งตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ สภาทนายความก็เลือก นายสัก กอแสงเรือง ให้เข้าสู่กระบวนการสรรหา

การสรรหาอันประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น รวม 6 คน

จะขาดก็เพียงแต่ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเท่านั้น

เพราะว่า คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อยู่ระหว่างการพิจารณาว่ายังดำรงตำแหน่งนี้อยู่หรือไม่ ขณะที่การเข้ามารักษาราชการของ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถอยู่ในองค์คณะของคณะกรรมการสรรหาหรือไม่

ตรงนี้ยังเป็นประเด็นที่จะต้องถกเถียงกันต่อไปในทางกฎหมาย

ที่น่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือ การร้องเรียนของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ต่อกระบวนการสรรหา ส.ว. ว่าดำเนินไปอย่างมีข้อบกพร่องมิได้จำกัดแต่เพียงกรณีของ นายสัก กอแสงเรือง เท่านั้น

หากยังครอบคลุมถึง ส.ว.สรรหามากกว่า 30 คน

และในจำนวนนี้มีไม่ต่ำกว่า 10 คน ที่มีข้อสงสัยว่าอาจไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้

ใน 10 คนนี้มี 2 คนที่ กกต.ชี้ว่าเป็นจริง

ขณะเดียวกัน ข้อร้องเรียนของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ในคณะกรรมการการเลือกตั้งคือ

"การร้องคัดค้านกระบวนการสรรหา ส.ว.ที่มีองค์คณะเพียง 6 คน โดยตัดสิทธิ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่ให้ร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหา ทั้งที่ศาลปกครองได้วินิจฉัยชัดเจนเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจของรักษาการผู้ว่า สตง."

ในความเห็นของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ "ถ้าดูตามกฎหมายเท่ากับว่าการสรรหา ส.ว.ครั้งนี้ต้องเป็นโมฆะทั้งหมด"

เป็นโมฆะในส่วนของ ส.ว.สรรหา 70 กว่าคน

จึงเห็นได้ว่า ผลสะเทือนจากกรณี นายสัก กอแสงเรือง กำลังกระทบกับทั้งสถานะของคณะกรรมการสรรหา ส.ว.และตัว ส.ว.อันผ่านการสรรหาทุกคน

กรณีของ นายสัก กอแสงเรือง จึงเสมอเป็นเพียงกรณีตัวอย่างเหมือนปลายบนสุดภูเขาน้ำแข็ง

เป็นภูเขาน้ำแข็งซึ่งรากฐานสัมพันธ์อยู่กับกระบวนการรัฐประหาร สัมพันธ์อยู่กับองค์กรอิสระ สัมพันธ์อยู่กับการพยายามสืบทอดฐานะตำแหน่งผ่านกระบวนการ ส.ว.สรรหา

ที่สุดแล้วก็แตะไปยังกระบวนการ "ตุลาภิวัฒน์" อย่างเลี่ยงไม่พ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น