เกษียร เตชะพีระ ว่าด้วย ชันสูตรพลิกศพ ′ผังล้มเจ้า′
วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 10:59:12 น.
Share6
| ชันสูตรพลิกศพ ′ผังล้มเจ้า′ โดย เกษียร เตชะพีระ มติชน 27 เมษายน 2555
|
"วันนี้ (11 เม.ย.) พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐว่าด้วยการล่วงละเมิดสถาบัน (คดีล้มเจ้า) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดว่า อัยการมีความเห็นให้ดีเอสไอสรุปสำนวนคดีตามพยานหลักฐาน คณะทำงานชุดสอบสวนจึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เพราะเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนทำผังล้มเจ้า และระบุไม่ได้ว่า ใครเป็นคนกระทำความผิด และกระทำที่ไหน เวลาใด อย่างไร ดีเอสไอจึงไม่สามารถดำเนินการสอบสวนต่อไปได้ ขั้นตอนหลังจากนี้ทางพนักงานสอบสวนจะสรุปไปตามพยานหลักฐานแล้วส่งสำนวนคดีไป ให้อัยการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีอาญา"
"ตามคาด! ดีเอสไอสรุปสำนวนไม่ฟ้อง-ยุติคดีผังล้มเจ้า"
12 เม.ย. 2555, www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9550000045831 ถึงแม้กรณี "ผังล้มเจ้า" จะจบลงอย่างแอนตี้ไคลแมกซ์จนน่าหัวร่อและชวนให้ส่ายหน้าด้วยความสมเพช กระทั่งหนึ่งในผู้ตกเป็นเหยื่ออย่าง อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ยังรู้สึกว่าฮาดีก็ตาม (www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333186767&grpid=01&catid=01) แต่ผมอยากเตือนให้ระลึกว่านี่เป็น "ตลกมรณะ" (a deadly joke) เพราะตอนที่มันถูกปล่อยออกมานั้น หน้าที่ทางการเมืองของมันคือให้ความชอบธรรมแก่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งตกอยู่ในสภาพเพลี่ยงพล้ำจากความล้มเหลวไม่เป็นท่าในการสลายการชุมนุมของ นปช. รอบแรกที่ถนนราชดำเนิน ในอันที่จะลงมือโฆษณาชวนเชื่อโจมตีให้ร้าย ปราบปราม จนผู้คนบาดเจ็บล้มตายต่อไป ด้วยข้ออ้างว่า "เพื่อปกป้องสถาบัน" ผมจึงอยากชวนให้คิดจริงจังกับ "ตลกมรณะ" เรื่องนี้สักเล็กน้อย เพื่อเป็นบทเรียนแก่ฝ่ายต่างๆ ในการหลีกเลี่ยงการให้ร้ายป้ายสี, การให้ความชอบธรรมกับความรุนแรง, และการใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างมักง่ายในภายหน้า 1) ปัญหาพื้นฐานของ "ผังล้มเจ้า"
คือมันเป็นเครื่องมือสืบสวนสอบสวนแบบฉบับที่สร้างขึ้นโดยหน่วยงานข่าวกรองซึ่งเรียนรู้และเลียนแบบมาจากองค์การซีไอเอของอเมริกา เนื้อแท้ของมันก็คือบัญชีดำ (blacklist) ของผู้ต้องสงสัยที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐประมวลรวบรวมขึ้นในสถานการณ์สู้รบกับองค์การใต้ดิน/บนดินของคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น และนำมาป้อนให้และ/หรือสอนให้หัดรวบรวมทำขึ้นบ้างแก่เจ้าหน้าที่ของประเทศพันธมิตรในโลกที่สามนั่นเอง ฝ่ายความมั่นคงและหน่วยข่าวกรองไทยซึ่งรับการฝึกฝนอบรมและอิทธิพล รวมทั้งแลกเปลี่ยนข่าว ประสานงานกับหน่วยข่าวกรองอเมริกันมาตลอดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเย็น สงครามเวียดนาม ถึงปัจจุบัน จึงรับเอาวิธีการนี้มาใช้ด้วย ไม่ว่าในสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ในอดีต, สงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดในสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 หรือสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้ในปัจจุบัน จากรายชื่อในบัญชีดำดังกล่าว ฝ่ายความมั่นคง/ข่าวกรองก็อาศัยเป็นฐานในการสืบสวนสอบสวน
หาข่าว เชื่อมโยงความสัมพันธ์เป็นเครือข่าย ติดตาม สืบจับ กระทั่งคุมตัว อุ้มหรือล่าสังหารตามคำสั่ง ต่อไปแล้วแต่กรณี ดังที่พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เคยให้สัมภาษณ์อย่างเปิดเผยจาก ประสบการณ์การทำงานส่วนตัวว่า : "..กลับจากเวียดนาม ผมเป็นหัวหน้าชุดล่าสังหารของกองทัพบก ตอนเป็นหัวหน้าชุดล่าสังหาร ผมไปทั่วหมด ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ภูหินร่องกล้า ไปหมดทุกที่ตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง..
"สมัยก่อนที่เรามีหน่วยล่าสังหาร ไอ้อย่างนั้นเขาเอาชื่อมาให้ บอกว่าไอ้นี่แหละแกนนำ ผกค. (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) เราก็เป้ง! จบแล้ว กลับมานอน อย่างนั้นมันง่าย (หัวเราะ)"
ปกรณ์ พึ่งเนตร และอธิคม คุณาวุฒิ, สัมภาษณ์พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี
"ผมสร้างตัวจากการรับจ้างรบ", กรุงเทพธุรกิจ, 3 ส.ค. 2545
2) ตรรกะพื้นฐานในการสร้างบัญชีดำหรือ "ผังล้มเจ้า" คือตรรกะของงานข่าวกรอง (the logic of intelligence) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานความสงสัย (suspicion) อันเป็นตรรกะที่ชี้นำการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรอง/ความมั่นคง เพราะลักษณะใต้ดินปิดเร้นซ่อนงำลึกลับของฝ่ายตรงข้าม ทำให้ดำเนินงานโดยอาศัยหลักฐานชัดแจ้งที่พิสูจน์ถึงที่สุดมิได้ หากต้องอาศัย "ความสงสัย" กาหัวเล็งเป้าใส่ "ผู้ต้องสงสัย" (suspects) เป็นหลักแทน แล้วคอยเฝ้าสังเกตสอดส่องดูแลระแวดระวัง (surveillance) ได้เลย ซึ่งตรงกันข้ามกับตรรกะพื้นฐานในการดำเนินงานของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการ จนถึงศาล (the logic of the legal system) ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของข้อพิสูจน์ (proof) ถือว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนแม้เขาตกเป็นผู้ต้องหา จนกว่าจะพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐาน อย่างเปิดเผยและเปิดให้โต้แย้งซักค้านได้ในกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด แล้วเชื่อถืออย่างสิ้นข้อ สงสัยที่ชอบด้วยเหตุผล (beyond reasonable doubt) ว่าเขาผิดจริง เมื่อนั้นจึงจะลงโทษเขาได้ ถ้าหากกระบวนการยุติธรรมถือหลักว่าปล่อยคนผิดไปร้อยคน ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์แม้เพียงหนึ่งคนแล้ว,
งานข่าวกรอง/ความมั่นคงกลับดำเนินงานด้วยหลักตรงข้ามกัน คือต้องติดตามสอดส่องคนที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งร้อยคน ดีกว่าปล่อยผู้ต้องสงสัยให้หลุดรอดไป แม้เพียงคนเดียว 3) ความบกพร่องผิดพลาดพื้นฐานเกิดขึ้นเมื่อนักการเมืองหยิบเอาบัญชีดำ "ผังล้มเจ้า" ซึ่งเป็นเครื่องมือของงานข่าวกรองมาอ้างใช้อย่างเปิดเผยเสมือนหนึ่งเป็น "คำกล่าวหาฟ้องร้อง" หรือกระทั่ง "หลักฐานเอาผิด" ในกระบวนการยุติธรรม การข้ามเส้นใช้เครื่องมือผิดประเภทดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการเมืองเข้าแทรกแซงงานข่าวกรอง/ความมั่นคง แทนที่จะปล่อยให้งานข่าวกรอง/ความมั่นคงดำเนินงานไปตามดุลพินิจอิสระและความเป็นมืออาชีพของเจ้าหน้าที่ กลับมีนักการเมืองผู้บังคับบัญชา ล้วงหยิบเอาข้อมูลดังกล่าวไปใช้เพื่อต่อสู้และทำลายล้างปรปักษ์ทางการเมืองในลักษณะเป็นคำกล่าวหาหรือหลักฐานอ้างอิงต่อสาธารณะกลายๆ การปล่อยให้มีการฉวยใช้งานข่าวกรอง/ความมั่นคงไปในทางการเมือง (politicization of intelligence work) นี้เลวร้ายมาก เพราะเท่ากับบ่อนทำลายความเป็นมืออาชีพ คุณภาพงาน คุณธรรมและศักดิ์ศรีของงานข่าวกรองและเจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรองลงไป นำไปสู่ข่าวหลอกตัวเองและลวงประชาชน ซึ่งชักนำให้ตัดสินใจผิดพลาดบนฐานข่าวหลอกลวงนั้น ดังที่เราได้เห็นผลลงเอยเป็นความกลวงเปล่าเหลวเป๋วเอาอะไรเป็นแก่นสารสาระไม่ได้ของ "ผังล้มเจ้า" กันอยู่ หลังจากที่มันได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือกล่าวหาให้ร้ายและทำลายล้างผลาญชีวิตรวมทั้งศักดิ์ศรี ของผู้คนไปมากต่อมากโดย ไม่มีใครหน้าไหนกล้าแอ่นอกมารับผิดชอบแม้แต่คนเดียว ดังนั้นกรณีการกระทำต่างๆ เช่น
การที่รัฐบาลประชาธิปัตย์และ ศอฉ.บิดเบนใช้ "ผังล้มเจ้า" เพื่ออุ้มรัฐบาลและทำลายปรปักษ์ทางการเมืองของตนก็ดี,
การที่ชื่อของนักวิชาการและสื่อสิ่งพิมพ์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐประหารและผู้อยู่เบื้องหลังอย่างรุนแรงแต่เผอิญมีสายใยเชื่อมโยงกับนักการเมืองผู้โอบกอดกับนายกฯอภิสิทธิ์กลับหายไปไม่ปรากฏใน "ผังล้มเจ้า" อย่างน่าสะดุดตาสะดุดใจยิ่งก็ดี, การที่มีแกนนำพรรคการเมืองบางพรรคเอา "ผังล้มเจ้า" ไปปรับแต่งขยายความเพิ่มรูปเพิ่มกลุ่ม เพิ่มคน แล้วแอบเผยแพร่ต่อเงียบๆ เพื่อหา
สมัครพรรคพวกค้ำจุนกลุ่มตนเองและทำลายศัตรูทาง การเมืองก็ดี,
การที่มีมือมืดดึงรายงานข่าวกรองที่บ่งชี้ความชอบด้วยกฎหมายของการเคลื่อนไหวของกลุ่มวิชาการออกไปจากการใช้หมุนเวียนในหมู่ผู้รับผิดชอบตัดสินใจของรัฐ เพื่อสนองตอบต่อวาระทางการเมือง เฉพาะของตนก็ดี ฯลฯ เหล่านี้จริงๆ แล้วเป็นการบ่อนทำลายประสิทธิภาพ ความแม่นยำถูกต้อง สอดคล้องกับความเป็นจริงของชุมชนงานข่าวกรอง อันเปรียบเสมือนหูตาป้อนข้อมูลสู่การตัดสินใจของรัฐบาล เท่ากับทำให้รัฐบาลตาฝาดหูเฝื่อนและตัดสินใจผิดพลาดฟั่นเฟือนเพราะอยู่บนฐานข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ บกพร่อง และบิดเบือน 4) ทางแก้ไขอย่างแรกและก่อนอื่นใดที่รัฐบาลและหน่วยงานข่าวกรองพึงทำได้จากบทเรียนการชันสูตร พลิกศพตลกมรณะเรื่อง "ผังล้มเจ้า" นี้คือต้องถ่ายถอนการเมืองออกไปจากงานข่าวกรอง/ความมั่นคง (depoliticization of intelligence work) อย่าปล่อยให้พลังการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยัดเยียดระเบียบวาระและอคติทางการเมืองเฉพาะของตนเข้ามาบิดเบือนการทำงานข่าวกรอง หากต้องดำเนินงานประมวลข่าวกรองอย่างรับผิดชอบ มีประสิทธิภาพ ตรงไปตรงมา และเคารพในสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีของพลเมืองทุกฝ่ายทุกคน งานข่าวกรองต้องเป็นเครื่องมือที่เป็นกลางทางการเมืองของรัฐบาล, และไม่ปล่อยให้เอาเครื่องมือของงานข่าวกรองแบบ "บัญชีดำ" ไปทำร้ายยั่วยุให้เกลียดชัง หวาดระแวง และฆ่าฟันคนไทยด้วยกันแบบนี้อีก
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1335488423&grpid=01&catid=01&subcatid=0100 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น