ผ่าวงเสวนา: 'แท็บเล็ตป.1' พ่อแม่ห่วงเด็กก้าวร้าว หวั่นใช้ผิดวิธีเกิดโทษมากกว่าคุณ
ผ่าวงเสวนา "แท็บเล็ตในมือเด็ก เศษเหล็กหรือตำรา" รมว.ไอซีทีมั่นใจสเปกและราคาเหมาะสม ยกเป็นอุปกรณ์เสริมการเรียนรู้ ขณะที่พ่อแม่ยังกังวลเรื่องเนื้อหา เกรงลูกกลายเป็นคนก้าวร้าว ขณะที่แพทย์แนะตรวจสายตา หวั่น ป.1ใช้แท็บเล็ตผิดวิธี เกิดโทษมากกว่าคุณ...
เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ชมรมนักข่าวเทคโนโลยีสารสนเทศ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาจิบน้ำชาเรื่อง "Tablet ในมือเด็ก เศษเหล็กหรือตำรา" โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ดี ในฐานะพ่อของลูก 5 คน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในโครงการ ซึ่งหลายคนอยู่ในฐานะพ่อแม่ ต่างก็มีความห่วงใยและกังวล ตั้งแต่สเปกหรือราคาและการใช้งาน สำหรับการกระจายแท็บเล็ตในโครงการคอมพิวเตอร์มือถือสำหรับนักเรียนทุกคน (One Tablet PC Per Child) จากนี้จะเป็นขั้นตอนของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะทยอยส่งมอบอุปกรณ์ให้แก่นักเรียนชั้น ป.1 ทุกคนในโรงเรียนทั่วประเทศ
รมว.ไอซีที กล่าวอีกว่า เบื้องต้นการใช้แท็บเล็ตประกอบการเรียนการสอนนี้มีรูปแบบเป็นออฟไลน์ ทำให้สามารถควบคุมการเข้าถึงเนื้อหาของเด็กได้ในระดับหนึ่ง สำหรับนักเรียนในระดับชั้นอื่นๆ รัฐบาลก็มีการจัดสรรงบเพื่อใช้ในโครงการประเภทเดียวกันนี้ แต่จะอยู่ในส่วนของงบประมาณปี 2556 ซึ่งต้องรอการพิจารณาอนุมัติในอนาคต ส่วนเนื้อหาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ใช้สำหรับแท็บเล็ตนักเรียนป.1 นี้ สามารถเข้าชมได้จากเว็บไซต์เด็กไทยดอทเน็ต (www.dekthai.net)
ด้าน นางนันท์นภัส ตันทะอธิพานิช ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนราชวินิต กรุงเทพฯ กล่าวว่า ได้เริ่มใช้แท็บเล็ตในโครงการดังกล่าวในฐานะโรงเรียนนำร่อง ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ม.ค.-มี.ค.ที่ผ่านมา โดยจากการใช้งานรู้สึกว่าแท็บเล็ตมีประโยชน์ ทั้งยังช่วยให้การเรียนการสอนง่ายขึ้น ทำให้เด็กตื่นตัวในการเรียนและรู้สึกสนุกสนานขึ้นด้วย เนื่องจากเป็นครูประจำชั้น ป.1 จึงมีโอกาสสอนเด็กในทั้ง 5 กลุ่มวิชาหลัก ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศาสตร์ ซึ่งจะเลือกจากเนื้อหากว่า 300 หัวข้อ ของสพฐ.
นางนันท์นภัส กล่าวต่อว่า ก่อนเข้ารับการอบรมการใช้งานก็มีความกังวล โดยเฉพาะด้านการดูแลรักษาเครื่อง เนื่องจากค่อนข้างเป็นเด็กเล็ก ในชั้นเรียนก็จะมีการสร้างข้อตกลงร่วมกันว่าห้ามเปิดไปที่ส่วนอื่นนอกเหนือจากที่เรียนอยู่ ซึ่งเด็กๆ ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลในการใช้งานแท็บเล็ตเกี่ยวกับการพัฒนาและการยอมรับเทคโนโลยีที่ครูต้องปรับตัว การปลูกจริยธรรมให้เด็กมีความพร้อมในการใช้งาน ผู้ปกครองควรให้เวลาและดูแลการใช้งานของเด็กอย่างใกล้ชิด ขณะที่แอพพลิเคชั่นและเนื้อหาควรใช้งาน เข้าใจได้ง่าย
นายวสันต์ ลิ่วลมไพศาล ผู้ร่วมก่อตั้งบล็อกนัน (http://blognone.com) กล่าวว่า หากมองในมุมฮาร์ดแวร์เชื่อว่าสเปกของเครื่องหน้าจอ 7 นิ้ว แรม 1GB เมมโมรี่ 8GB ดูอัลคอร์ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชั่น 4 ถือว่าเพียงพอและสามารถใช้เพื่อเป็นอุปกรณ์เสริมในการศึกษาได้ ความกังวลเกี่ยวกับการใช้งานที่อาจส่งผลให้เครื่องได้รับความเสียหาย ได้แก่ การตกหล่น และการตั้งค่าใช้งานไม่ถูกต้อง
นางศรีดา ตันทะอธิพานิช ประธานเครือข่ายผู้ปกครองออนไลน์ กล่าวว่า ผู้ปกครองจำนวนมากได้แต่ติดตามรายละเอียดผ่านข่าวซึ่งทำให้ไม่เข้าใจกระบวนการทั้งหมดอย่างถูกต้อง ยอมรับว่าค่อนข้างมีความกังวลทั้งด้านนโยบายและการใช้งานอื่นๆ ทั้งการบำรุงรักษาและคอนเทนต์
"ไม่รู้ว่าอะไรจะเข้ามาอยู่ในมือของลูกเรา ไม่รู้ว่าต้องปรับและเตรียมตัวอย่างไร อยากให้มีความชัดเจนเพื่อจะได้ติดตามและเตรียมตัวได้ถูก เชื่อว่าทุกคนก็อยากให้ลูกได้มีโอกาสใช้งานแท็บเล็ต แต่ต้องยอมรับว่าบางรายอยากได้เพราะเป็นของแจก ของฟรีหรือเปล่า เมื่อได้ไปใช้งานแล้วก็ควรแนะนำให้ความรู้ลูกหลานได้ นอกจากนี้ก็เป็นห่วงว่าเด็กจะเบื่อเร็วหรือเกิดปัญหาความก้าวร้าว เพราะสามารถเล่นอยู่กับแท็บเล็ตได้ทั้งวันโดยที่ไม่ต้องทำกิจกรรมอื่น"
ขณะที่ พ.ท.นพ.ยุทธพงษ์ อิ่มสุวรรณ เลขาธิการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานแท็บเล็ตนั้น อาจมีผลกระทบต่อสายตาได้มากที่สุด แต่อยากแนะนำให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปตรวจสุขภาพตา เพื่อตรวจเช็กก่อนการใช้งาน เพราะเด็กบางคนอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสายตาอยู่แล้ว การใช้งานแท็บเล็ตในสภาพแวดล้อมและระยะเวลาที่เหมาะสมก็อาจไม่ได้เป็นปัจจัยให้เกิดปัญหาด้านสายตา
"คำแนะนำคือไม่ควรจ้องมองหน้าจอเป็นเวลานานเกินไป ควรพักสายตาทุก 1 ชั่วโมง ควรกะพริบตาหรือปรับไปมองระยะไกลบ้าง เพื่อให้มีการกะพริบตา ลดอาการแสบตา ตาแห้ง หรือน้ำตาไหลได้"
โดย: ทีมข่าวไอทีออนไลน์
11 พฤษภาคม 2555, 19:30 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น