เรื่อง/ภาพ ปรีชยา ซิงห์
"ป้อมเพชร" ประตูสู่กรุงศรีอยุธยา
หากจะกล่าวเช่นนั้น ก็คงไม่ผิดไปจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากนัก
นับจากเมื่อคราว สถาปนาอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี เมื่อ ปี พ.ศ. 1893 กำแพงเมืองและป้อมต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาเป็นปราการป้องกันข้าศึกจำนวนมากรอบเกาะกรุงศรีอยุธยา ในคราวแรกเริ่มสร้างป้อม ล้วนใช้ไม้เป็นสิ่งก่อสร้าง ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้มีการขยายขอบเขตราชสีมาไปถึงตลิ่งแม่น้ำ จึงได้มีการสร้างกำแพงด้วยอิฐและศิลาแลงขึ้น
บรรดา 29 ป้อมที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา "ป้อมเพชร" นับเป็นป้อมที่มีความสำคัญมากที่สุดในเชิงยุทธศาสตร์ ด้วยเป็นด่านปราการป้องกันศัตรูผู้รุกรานได้ดี อยู่ตรงมุมพระนครด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ภายในเกาะเมือง บริเวณแม่น้ำบางกะจะ ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลมาบรรจบกับแม่น้ำป่าสักพอดี ทำให้เกิดเป็นลานน้ำวนขนาดใหญ่
จุดนี้ใช้เป็นที่จอดเรือสำเภาและเรือสินค้าของชาวต่างชาติ จึงเป็นตลาดใหญ่ที่ชาวบ้านสมัยก่อนนิยมเรียกกันว่า ตลาดน้ำวนบางกะ ดังปรากฏชื่อตำบลทางฝั่งตรงข้ามว่า "ตำบลสำเภาล่ม" เป็นนัยถึงวังน้ำวนด้านหน้าป้อมเพชรนั่นเอง
|
ป้อมเพชร เป็นป้อมใหญ่ก่อด้วยอิฐสลับกับศิลาแลง หนา 14 เมตร ลักษณะรูปทรงป้อมแบบหกเหลี่ยมยื่นออกไปจากแนวกำแพงเมือง มีช่องคูหา(เชิงเทิน) ก่อเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ซึ่งเป็นที่ตั้งของปืนใหญ่ประจำป้อม จากบันทึกประวัติของชาวต่างชาติที่ไปเยือนกรุงศรีอยุธยา ณ เวลานั้น กล่าวไว้ว่ามีปืนใหญ่กว่า 800 กระบอกตั้งเรียงรายอยู่บนกำแพงเมือง เพื่อป้องกันข้าศึกที่จะมาทางน้ำ และเป็นท่าเรือสินค้าที่สำคัญในอดีต รวมทั้งเป็นย่านที่พักอาศัยของพ่อค้าชาวจีน ฮอลันดาและฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังแฝงไว้ซึ่งวิถีชีวิตของชาวกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากพบร่องรอยการอยู่อาศัยมาตั้งแต่อยุธยาตอนต้น
| |
แม้อาณาจักรอยุธยา ราชธานีสยามที่ยาวนานเกือบสี่ศตวรรษ จะล่มสลายลง นับแต่คราวต้องเสียกรุงฯครั้งที่ 2 ให้แก่พม่า ตั้งแต่เมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน ตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ แต่ ป้อมเพชร ก็ยังทำหน้าที่เป็นด่านปราการสำคัญของเมืองพระนครอยู่ เมื่อก้าวเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ และในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล "ณ ป้อมเพชร์" ให้แก่ "พระสมุทบุรานุรักษ์ (ขำ)" ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวรุณฤทธีศรีสมุทปราการ พระยาเพชร์ชฎา และ "พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์)" ขณะประทับแรมที่อ่างศิลา พ.ศ. 2456 ด้วยบรรพบุรุษของพระสมุทฯ มีถิ่นฐานอยู่บริเวณป้อมเพชรดังกล่าว จึงนับเป็นต้นสกุลดังของบุคคลที่มีชื่อเสียงต่างๆ ในปัจจุบันที่เรารู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร (อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ท.พญ.พิมพ์เพ็ญ เวชชาชีวะ ภริยา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หลานยายของนางอัมพา สุวรรณศร บุตรีพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์)) และ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต เป็นต้น
ปัจจุบัน ป้อมเพชร ได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากร และยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่เป็นส่วนใหญ่ หากยืนอยู่ที่ป้อมเพชรแล้วมองไปที่ฝั่งตรงข้าม ทางด้านซ้ายมือคือ วัดพนัญเชิงฯ ทางด้านซ้ายมือคือ วัดใหม่บางกะจะ ตั้งอยู่ใกล้กับ วัดสุวรรณดาราราม เป็นป้อมปราการป้อมเดียวที่ยังเหลืออยู่จาก 16 ป้อม ตามแนวกรุงเก่า ในครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
| |
ในโปรแกรมทัวร์ "บุกอยุธยา ค้นหาพระนเรศวร" รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-พม่า จะเป็นผู้นำทางเราอนุชนรุ่นหลัง เปิดประตูแห่งเวลาเดินทะลุข้ามมิติ สู่อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา อันรุ่งเรืองในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน ผ่านป้อมเพชร ณ แห่งนี้ ฟังเรื่องเล่าที่ไม่เคยได้ยินจากที่ไหน รวมถึงยุทธศาสตร์ แผนการรบ และการป้องกันเมืองที่สำคัญ จากพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในการที่ทรงเลือกใช้ ป้อมเพชร ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ป้อมสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่ตรงลำแม่น้ำ ในการรักษาพระนครทางด้านทิศใต้ นอกเหนือจากป้อมกบและป้อมมหาชัย เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึกอย่างพม่า อย่างเจาะลึกโดยละเอียด และยังได้ใกล้ชิดตัวเป็นๆ กับกูรูเรื่องไทย-พม่า และบุกไปตามสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับพระนเรศทั้งสิ้น
เตรียมพร้อมร่วมเดินทางสู่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชาติสยามด้วยกันได้ ในวันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม 2555 นี้ สนนราคาเพียง 2,899 บาท พิเศษแจกฟรี! หนังสือ พม่ารบไทย ทุกที่นั่ง
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ "มติชนอคาเดมี" โทร 08-2993-9097 และ 08-2993-9105
++++++++++++++++++++++++++++++++
ถัดจากป้อมเพชร เตรียมพร้อมกันให้ดี ในการศึกษาเรื่องราวข้อมูลทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผ่านจิตรกรรมฝาผนัง ต้นฉบับที่เคยเห็นกันในหนังสือเรียน วาดโดยพระยาอนุศาสน์จิตรกร จิตรกรเอกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ณ วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร หนึ่งในสถานที่ของโปรแกรมทัวร์ "บุกอยุธยา ค้นหาพระนเรศวร" พร้อมอ่านข้อมูลเบื้องต้นการสร้าง "วัดทอง" ภายหลังจากที่พระชนกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงยกที่ดินบริเวณหลัง ป้อมเพชร มาสร้างไว้ ก่อนที่ รัชกาลที่ 1 จะทรงบูรณะใหม่ทั้งหมด และพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดสุวรรณาดารามฯ" ซึ่งเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมเปรียบพระพุทธศาสนาดั่งนาวาธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของโบสถ์สมัยอยุธยา ที่ตัวโบสถ์จะตกท้องช้าง ทำให้คล้ายท้องเรือสำเภา นอกจากนี้ พระประธานในพระอุโบสถ ยังเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีลักษณะงดงาม ซึ่งรัชกาลที่ 1โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขยายส่วนจากพระแก้วมรกตอีกด้วย
ตอนหน้า....อย่าได้พลาด!!
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1336200627&grpid=01&catid=08&subcatid=0804
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น