ปูลู..เต่าหางยาวมรดกโลกชิ้นสุดท้าย
โครงการอนุรักษ์เต่าปูลู...ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านนาดอง ตำบลช่อแฮ จังหวัดแพร่ "หลายชีวิต" มีโอกาสไปเยี่ยมชม แล้วก็พบกับความแปลกของเจ้าเต่าตัวนี้ จึงนำภูมิประวัติชีวิตมานำเสนอ...
เต่าปูลู...เป็นเต่าน้ำจืดกินเนื้อเป็นอาหารชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Platysternon megacephalum พบในลำธารน้ำตกบนภูเขาสูงหรือป่าดิบชื้นใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบนที่ติดกับตอนใต้ของประเทศจีน ตามชายแดนที่ติดกับ ไทย ลาว และ พม่า
...สาเหตุที่แปลกไปจากเต่าทั่วไป กล่าวคือ หัวที่โต ปากงุ้มแหลม เล็บที่ทั้ง 4 ข้างแหลมคมมาก มีหางที่ยาวมาก และ ไม่สามารถหดหัวเข้ากระดองที่เรียวยาวได้ แต่มีคอยาวยื่นออกมาได้มาก...
...มันเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว อีกทั้งมีความสามารถในการปีนต้นไม้ และก้อนหิน ขามีขนาดใหญ่และแข็งแรง แต่หดเข้าไปอยู่ในกระดองไม่ได้ ขาหน้าและขาหลังของเต่าปูลูมีเกล็ดหุ้มทั้งหมด ตั้งแต่โคนขามีเกล็ดขนาดใหญ่ ฝ่าเท้ามีเกล็ดขนาดเล็กลงมา นิ้วมีเกล็ดหุ้ม มีเล็บแหลมคม ขาหน้ามี 5 นิ้ว ขาหลังมี 4 นิ้ว มีเยื่อพังผืดเล็กน้อยยึดระหว่างนิ้วเกือบถึงโคนเล็บ...
ปูลู...มีนิสัยดุร้าย กินเนื้อ และ ลูกไม้เปลือกแข็งเป็นอาหาร โดย วิธีการฉกงับ ความแตกต่างระหว่างเพศผู้และเพศเมีย คือ ตัวผู้มีหางยาวมากกว่า และรูเปิดก้นของตัวผู้จะอยู่ไปทางปลายหางมากกว่า และตัวผู้จะมีอวัยวะเพศอยู่ภายในรูเปิดก้น
เมื่อยังเล็ก...กระ-ดองจะมีลายสีเหลืองและสีน้ำตาล ส่วนตัวเต็มวัยสีเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลเขียวมะกอก ผสมพันธุ์ในน้ำ วางไข่คราวละ 3–5 ฟอง ไข่เปลือกแข็งสีขาว รูปทรงกระบอก หัวท้ายรี ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร เชื่อว่ามีอายุยืนได้ถึง 200 ปี...
สถานภาพปัจจุบัน เป็น สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากถูกคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัย ถูกจับมาปรุงยาสมุนไพร และมีการนำมาเลี้ยงเป็น สัตว์เลี้ยงแต่ไม่ค่อยรอดชีวิต เนื่องจากเป็นเต่าที่อาศัยอยู่ในน้ำที่มีสภาพเป็นลำธารน้ำตกเท่านั้น จึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นสัตว์เลี้ยง...!!
ไชยรัตน์ ส้มฉุน
โดย: ไชยรัตน์ ส้มฉุน
15 พฤษภาคม 2555, 05:00 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น